นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC) กล่าวในงานเสวนา ภายในหัวข้อ "ธุรกิจไทย...ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม"ว่า ในยุค 10-20 ปีจากนี้ โลกได้มีการปฎิวัติไปอีกด้านหนึ่ง โดยวันนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องมี Corporate ใหญ่ๆ มีคนที่มาก หรือมีระบบการจัดการที่ดี แต่เป็นยุคที่ต้องมี Innovation ซึ่งหากใครมีการคิดแพลตฟอร์มที่ดีคนนั้นจะเป็นผู้นำ เช่น Uber ,Facebook ,Alibaba.com เป็นต้น
ทั้งนี้ ภายใน 20 ปีที่ผ่านมานี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปเพราะมีอินเทอร์เน็ตเข้ามา จนมาถึงยุคปี 58 ที่เข้าสู่ยุคของ Mobile digital Era โดยจากประมาณการณ์ว่านับตั้งแต่ปี 59 ถึง 64 เรื่องของโมบายที่ทรงพลังจะค่อยๆหายไป และจะเข้าสู่ยุคที่ชื่อว่า Digital Era หรือ Everything Digital คือทุกอย่างจะเป็นดิจิตอล
"ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ อย่าง Samsung ได้ประกาศแล้วว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าสินค้าทุกชิ้นที่ผลิตจะมีเซ็นเซอร์ ที่จะเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ต ติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา ขณะที่ Google ก็ประกาศแล้วว่ายุคของโมบายจะหมดไป และยุค Ai (Artificial Intelligence ) จะต้องเข้ามาแทน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีการขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง Microsoft กล่าวว่านับจากนี้เป็นต้นไป คนหนึ่งคนจะมีเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องมือติดต่อสื่อสาร อยู่ 11 ชิ้น เช่น ตุ้มหู ,แว่นตา,นาฬิกา เป็นต้น"นายสมชัย กล่าว
นอกจากนี้ การทำธุรกิจในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง ไปด้วยการมี Digital เข้ามา จะต้องคำนึงในเรื่องของ Mobility หรือ การเปลี่ยนแปลงไปของโลก ,Social Business ซึ่งนักธุรกิจรุ่นใหม่จะต้องศึกษาข้อมูลของลูกค้าว่าอยู่ในกลุ่มไหน ทำอะไร อย่างไร ,Cloud Computing การใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ ,Big data /Analytics จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักลูกค้า เพื่อเสนอบริการให้แก่ลูกค้านั้นๆได้ และ Regulatory Dynamism การออกกติการโดยภาครัฐเพื่อให้ภาคเอกชนเดินต่อไปได้
สำหรับ ADVANC ได้มีการเปลี่ยนผ่านจาก Telecom Operator เป็น Digital Life Service Provider โดยร่วมมือกับคู่ค้าในทุกอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการ อย่างไรก็ตามในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปการทำธุรกิจได้ดียังต้องมีปัจจัยอีก 3 ด้าน คือ การตอบโจทย์ผู้ใช้บริการเป็นเรื่องสำคัญ โดยมีองค์ความรู้ความรู้จริง และสร้างความแตกต่างที่เกิดจาก Innovation รวมถึงต้องมีความรวดเร็ว
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธาน KASIKORN Business-Technology Group กล่าวว่า ธนาคารในฐานะที่ต้องรองรับการบริการทุกกลุ่มลูกค้า ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยโลกของ Digital Technololy มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงใน Consumer อย่างมาก ซึ่งกลุ่มคนที่เล่นโซเชียลมีเดียไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น แต่รวมไปถึงกลุ่มที่เรียกว่า Baby Boomers ที่มีการติดต่อ แลกเปลี่ยนข่าวสารกับเพื่อนฝูง และยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อในสังคม ซึ่งคนเหล่านี้กำลังเข้ามามีบทบาทของการบริโภคของเราเช่นเดียวกันเทคโนโลยี นอกจากจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงลูกค้าแล้ว ยังทำให้เกิดการแข่งขันรูปแบบใหม่ ขณะที่บทบาทภาครัฐก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีการดึงพลังของภาคเอกชนเข้าไปร่วมพัฒนาประเทศ
ส่วนธนาคารฯสิ่งแรกที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กร คือการมองการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกรูปแบบ เป็นการเปลี่ยนแปลง และเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ว่าจะมีการดำเนินธุรกิจไปในทางไหน จะต้องมีการยึดหลัก คือ ความรู้เกี่ยวกับลูกค้าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ,การขยายไป AEC ในธุรกิจที่กว้างขึ้น เราจะต้องทำผ่านพาสเนอร์ และ ความสามารถของธนาคารที่จะสร้างฐานของคน หรือพาสเนอร์ ให้นำองค์กรไปสู่อนาคต หรือ วัฒนธรรมองค์กร
"ดิจิตอล เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเราต้องตอบสนอง โดยกสิกรไทย ก็มีการสร้างสิ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยีอินโนเวชั่น ให้ดีกว่าที่ผ่านมา ให้ตรงจุดตรงประเด็นกว่าที่ผ่าน คือการดึงเอาทีมเทคนิคเข้ามา เพื่อขยายให้เกิดธุรกิจ ขณะที่ก็เป็นตัวหลักในการสร้างพาร์ทเนอร์ ซึ่งเราก็มีการเจรจากับพาร์ทเนอร์ อย่าง Paypal ,google หรือหลายๆองค์กรชั้นนำ พร้อมๆกับน้องๆที่เป็นซินเทคสตาร์ทอัพ อีกหลายๆแห่ง ขณะนี้มีโครงการที่เดินอยู่ภายใน KBTG ราว 5-6 โครงการด้วยกัน เพื่อร่วมกันทำงานที่สร้างสรรค์บริการใหม่ๆของวงการการเงินของประเทศ และการเป็นแนวหน้าในการพัฒนานวัฒกรรม ที่เป็นทางรอดของประเทศ"
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทย ยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) กล่าวว่า บริษัทไดัมีโอกาสในการศึกษาในเรื่องของ Innovation ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพื่อหาวิธีบริหารจัดการ ให้เกิดความยั่งยืน โดยบริษัทฯมีแผนขยายศูนย์วิจัยฯ ต่อเนื่องใน 2 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีอยู่ในตลาด และมีความแตกต่าง
"บริษัทเชื่อว่าภายในปี 63 ถ้าทำได้ตามที่วางแผนเอาไว้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ด้วย Innovation center ที่ตั้งขึ้นมานี้ มีการศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งปลาทูน่าวันนี้ สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น คือตลาดปลาทูน่าของเด็ก โดยเฉพาะของเด็กฝรั่งที่ไม่ชอบทานปลามากที่สุด ขณะเดียวกันมุมมองของบริษัทฯครั้งนี้ ได้นำผู้เชี่ยวชาญจากหลายด้านที่มีมุมมองที่แตกต่างจากเรา โดยบริษัทฯสามารถเชื่อมโยงโปรดักซ์เข้าสู่อุตสาหกรรมนมทารกเด็ก และนอกเหนือจากนั้น เช่น เลือดปลา ในอดีตเอาไปผลิตเป็นอาหารแมว แต่ ณ วันนี้ จะเปลี่ยนเลือดปลาให้เป็นเวย์โปรตีน"นายธีรพงศ์ กล่าว