นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธปท.ได้มีการเตือนมาตลอดว่าในปีนี้จะต้องความระมัดระวังเรื่องความผันผวนที่มาจากตลาดเงินตลาดทุนโลกและปัจจัยที่มีผลต่อความผันผวนค่อนข้างมากมาจากนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ โดยจะเห็นว่าในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมา ได้เกิดความผันผวนทั้งในส่วนของอัตราดอกเบี้ยตลาดพันธบัตร ค่าเงิน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่เกิดขึ้นนั้นมาจากทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้ตลาดส่วนใหญ่จะคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมช่วงเดือนมิ.ย.นี้ก็ตาม
อย่างไรก็ดี จากการให้ความเห็นของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ยังมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ยังใช้แนวทาง Data Dependent เพื่อใช้ในการตัดสินใจทำนโยบาย
"เพราะฉะนั้น ในระหว่างนี้จึงปฎิเสธไม่ได้ว่าจะมีความผันผวนเกิดขึ้นทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากที่นักธุรกิจจะต้องบริหารความเสี่ยง พยายามปิดความเสี่ยงจากค่าเงินเพราะความผันผวนสามารถเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ทาง" ผู้ว่าธปท. ระบุ
สำหรับผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยนั้น ผู้ว่าธปท. ระบุว่า ยังไม่ต้องกังวลเพราะไทยมีกันชนในด้านต่างประเทศอยู่ค่อนข้างมาก ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศ อาจจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดเงินตลาดทุนโลกมากกว่าไทย เนื่องจากมีสัดส่วนการกู้ยืมจากต่างประเทศสูง ในขณะที่ไทยไม่ได้มีการพึ่งการกู้ยืมจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงอีกทั้งนักลงทุนต่างประเทศยังเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรไม่สูงมาก
"สภาพคล่องในประเทศถือว่ายังอยู่ในระดับสูงเพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงว่าจะมีเงินไหลออกจนทำให้สภาพคล่องในประเทศมีปัญหา เป็นเรื่องที่ธปท.ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าสภาพคล่องในระบบมีเพียงพอที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง"
ส่วนผลกระทบกรณีธนาคารกลางจีนได้ปรับลดค่ากลางเงินหยวนรายวันลงนั้น ผู้ว่าธปท. ระบุว่า เงินบาทขณะนี้เมื่อเทียบกับสกุลภูมิภาคยังเคลื่อนไหวไม่แตกต่างจากค่าเงินอื่นๆ
ด้านางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางจีนปรับลดค่ากลางเงินหยวนรายวันว่า ในเดือน พ.ค. ทางการจีนปรับลดค่ากลางเงินหยวนให้อ่อนค่าลงประมาณ 1.5% ซึ่งเป็นการกำหนดอัตราอ้างอิงค่าเงินหยวนตามกลไกปกติ โดยค่ากลางเงินหยวนที่ปรับอ่อนค่าลงดังกล่าวเป็นไปตามภาวะตลาดและสอดคล้องกับแนวโน้มของค่าเงินในภูมิภาคและเงินหยวนนอกประเทศจีน (Offshore yuan) ที่อ่อนค่าลงเช่นกัน จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากนักลงทุนกลับมาคาดการณ์ว่า เฟด อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่ใกล้จะถึงนี้
การที่เงินหยวนปรับอ่อนค่าลงเร็วในระยะหลัง อาจเป็นเพราะก่อนหน้านี้เงินหยวนไม่ได้อ่อนค่าลงมากนักหรืออาจจะช้ากว่าสกุลอื่นๆ จากความระมัดระวังของทางการจีนที่พยายามดูแลให้ตลาดปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนจนเกินไปเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
"การอ่อนตัวของค่ากลางของเงินหยวนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินภูมิภาครวมทั้งเงินบาทมากนัก โดยการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ของค่าเงินภูมิภาคขึ้นอยู่กับการคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นสำคัญ โดย ธปท. ติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง" นางจันทวรรณ กล่าว