ธ.ก.ส.เตรียมวงเงินสินเชื่อ 3 แสนลบ.ให้เกษตรกร 3.2 ล้านรายใช้เป็นทุนหมุนเวียนเพื่อการผลิตฤดูกาลใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 26, 2016 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคาร ครั้งที่ 3 /2559 วันที่ 25 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการผลิตฤดูกาลใหม่ (JUMP START) เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรลูกค้าที่ประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่อง

จากการสำรวจเบื้องต้นได้ตั้งเป้าหมายสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการผลิตฤดูกาลใหม่ (JUMP START) จำนวน 300,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรลูกค้า จำนวน 3.2 ล้านราย แยกเป็นวงเงินสินเชื่อทั่วไป 220,000 ล้านบาท และวงเงินบัตรสินเชื่อเกษตรกร 30,000 ล้านบาท พร้อมทั้งสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน จำนวน 10,000 แห่ง วงเงินสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะดูแลพี่น้องเกษตรกรลูกค้าอย่างใกล้ชิด เน้นให้พนักงานพัฒนาธุรกิจเยี่ยมเยียนลูกค้าทุกราย เพื่อให้ทราบถึงศักยภาพ ธ.ก.ส.จะจำแนกกลุ่มลูกค้าเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีปัญหาภาระหนี้สินที่มีอยู่เดิม จะช่วยเหลือสนับสนุนการปรับพฤติกรรมทางการเงิน มุ่งเน้นการให้ความรู้ทางการเงินให้มีการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เมื่อมีความพร้อมแล้วจะสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมต่อไป กลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพมีความพร้อมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ รวมทั้งทำการผลิตที่มีตลาดรองรับ ธนาคารจะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการผลิตฤดูกาลใหม่ (JUMP START) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 - 31 ธันวาคม 2559 และกลุ่มที่มีศักยภาพสูงสามารถยกระดับเป็น SMAEs ภาคการเกษตรไทยได้สามารถใช้สินเชื่อในโครงการ สินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทยที่ธนาคารแจ้งรายละเอียดไว้แล้ว

“การจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อการผลิตฤดูกาลใหม่ (JUMP START) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่ประสบปัญหาภัยแล้งดังกล่าวนี้ นับว่าเป็นการลดภาระทางการเงินให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากภาวะวิกฤติภัยแล้งและราคาผลผลิตตกต่ำ เป็นการให้โอกาสลูกค้า ลดปัญหาหนี้นอกระบบ แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรยังคงมีความเสี่ยงในการผลิตจากภัยธรรมชาติ รัฐบาลและธ.ก.ส.จะได้ร่วมกันจัดทำโครงการประกันภัยพืชผลให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นการให้สินเชื่อควบคู่ไปกับการจัดทำประกันภัยให้ด้วย นอกจากนี้ยังจัดให้มีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร เรื่อง การผลิตตามเกณฑ์มาตรฐานและความรู้ทางการเงิน เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรลูกค้าที่ประสบภาวะวิกฤติภัยแล้ง พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรมีศักยภาพในการผลิตอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป"นายลักษณ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ