นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของ H.E. Mr. Sujeewa Senasinghe รมว.การค้าระหว่างประเทศศรีลังกาว่า ได้มีโอกาสร่วมหารือกันในประเด็นด้านเศรษฐกิจและติดตามความคืบหน้าผลการเยือนศรีลังกาของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงประเด็นความสำเร็จของรัฐบาลไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับกลไกการผลักดันมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและศรีลังกา ซึ่งจากผลการเยือนศรีลังกาของรองนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 8-12 มี.ค.59 ทั้งสองฝ่ายเห็นควรให้มีการตั้งเป้าหมายการค้าเพื่อเพิ่มพูนการค้าระหว่างกันเป็น 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 5 ปี หรือในปี 2563)
อย่างไรก็ดี เนื่องจากมูลค่าการค้าระหว่างกันยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก โดยในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา (2554-2558) การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ยเพียง 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สองฝ่ายจึงเห็นว่ากลไกเพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการค้า ได้แก่ 1.การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ 2.การจัดประชุมคณะอนุกรรมการด้านการค้าระหว่างไทยและศรีลังกา ซึ่งไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 2 ในเดือนก.ย.59
3.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ได้แก่ ความร่วมมือด้านอัญมณี ซึ่งไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอของศรีลังกาเพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่างกัน และความร่วมมือด้านการคลังสาธารณะและงบประมาณ (Public Finance& Budgeting) ซึ่งไทยพร้อมจะจัดอบรมให้ศรีลังกาในเดือนก.ค.นี้ รวมทั้งศรีลังกาได้หารือเกี่ยวกับกลยุทธ์ส่งเสริมการลงทุนตรงต่างประเทศ (FDI) ของไทยเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปเศรษฐกิจของศรีลังกาต่อไป
ทั้งนี้ ศรีลังกาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ (รองจากอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ) ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันที่ 4 ของศรีลังกาในภูมิภาคอาเซียน (รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) การค้าระหว่างไทยและศรีลังกา ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 520 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปี 2558 การค้ารวมมีมูลค่า 490 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 0.12% ของการค้าทั้งหมดของไทย โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 380 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปศรีลังกา ได้แก่ ผ้าผืน ปลาแห้ง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เม็ดพลาสติก ยางพารา เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับอัญมณี ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องจักรไฟฟ้า กาแฟ ชา เครื่องเทศ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น