นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนฯ ตามมาตรการต่างๆ จากนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ให้เห็นเป็นรูปธรรมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้ของเกษตรกรในพื้นที่รอบๆ หรือในตำบลที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ซึ่งมีการชี้แจงให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม และรู้จักใช้ข้อมูลแผนที่ในพื้นที่ของตนเอง ครบทั้ง 882 ศูนย์ และมีเกษตรกรได้รับการชี้แจงกว่า 180,000 ราย มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความสำคัญ และประโยชน์ของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมผ่านทาง Facebook (https://www.facebook.com/agrizoning) วิทยุชุมชน จดหมายข่าว และเว็บไซด์ของหน่วยงาน กว่า 1500 ครั้ง ในส่วนของมาตรการที่สองสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้กำหนดแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรพืชเศรษฐกิจทั้ง 13 ชนิดที่สำคัญในปี 2559 คือ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ข้าว ยางพารา มะพร้าว กาแฟ สับปะรด เงาะ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ทำให้ทราบว่าพืชแต่ละชนิดมีความต้องการใช้ในประเทศปริมาณเท่าใด การส่งออกมีปริมาณมากน้อยเพียงใด
ด้านนายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการจัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมของที่ดินสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรสำหรับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดรายชนิดพืช ในระดับประเทศระดับจังหวัด และระดับอำเภอ และทำการส่งมอบข้อมูลแผนที่ดังกล่าวให้แก่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตรนำไปใช้เป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่ ครบทั้ง 882 ศูนย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคของหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิบัติ และส่งเสริมในพื้นที่เขตเหมาะสม (S๑ และ S๒) มีการอบรมให้เกษตรกรสามารถดูและใช้แผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ของตนเอง ว่ามีความเหมาะสมในระดับใด หรือไม่เหมาะสมกับพืชชนิดใด หากมีความเหมาะสมแล้วจะต้องทำการเพิ่มศักยภาพในการผลิตแบบไหนเพื่อลดต้นทุนในการผลิต หากไม่เหมาะสมจะต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปทำการเกษตรด้านอื่น
นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เกษตรกรได้ดูงานความสำเร็จของการปลูกพืชในเขตเหมาะสม ผ่านทางศูนย์เรียนรู้ฯ (ศพก.) ที่เป็นต้นแบที่อยู่ในจังหวัด ซึ่งได้มีการอบรมให้แก่เกษตรกรไปแล้วจำนวน 400 กว่าศูนย์ มีเกษตรเข้ารับการอบรมจำนวนกว่า 90,000 ราย ส่วนการขับเคลื่อนการปฏิบัติและส่งเสริมในพื้นที่ที่ทำการผลิตไม่เหมาะสม (S๓ และ N) หรือ การปรับโครงสร้างการผลิต ได้ดำเนินการประชุม ชี้แจงถึงผลกระทบจากการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ไม่เหมาะสม และเสนอทางเลือกการผลิตในรูปแบบต่างๆ ทดแทน ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่นั้นๆ ไปแล้ว จำนวน 231 ศูนย์ มีเกษตรกรเข้าร่วมการชี้แจงกว่า 64,000 ราย มีจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ฯ จำนวน 475 ราย ใน 17 จังหวัด รวมทั้งการสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านต่างๆ ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนด้วย ไม่ว่าจะเป็นสระเก็บน้ำในไร่นา วัสดุปรับปรุงดิน เป็นต้น.