ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความสามารถในการแข่งขัน SMEs Q1/59 ยังชะลอตัว คาดเริ่มฟื้นใน H2/59

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 26, 2016 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ประจำไตรมาสที่ 1/59 พบว่า ความสามารถการแข่งขันของ SMEs อยู่ที่ระดับ 48.4 ปรับตัวลดลง -1.0 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าดัชนีความสามารถในการแข่งขันฯ จะปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับ 48.1 ในไตรมาสที่ 2/59 และปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 48.6 ในครึ่งหลัง (H2) ของปี 59

"แม้ว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาจะเริ่มฟื้นตัว แต่ SMEs ก็ยังไม่ได้รับรู้ถึงภาวะดังกล่าว โดย SMEs จะยังคงมีปัญหาต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 แต่ก็มีความคาดหวังว่าครึ่งปีหลัง 59 จะเริ่มดีขึ้น"

ขณะที่ คาดว่า GDP ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปีนี้จะโตได้ถึง 3.9%

ส่วนผลสำรวจสถานการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคในช่วงครึ่งแรกของปี 59 และประมาณการภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคในปี 59 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว เพราะปัจจัยลบยังมีทั้งภัยแล้งที่ทำให้เงินหายไปจากระบบ 120,000 ล้านบาท, มูลค่าการส่งออกลดลงติดลบ ทำให้รายได้เข้าประเทศหายไปมากกว่า 200,000 ล้านบาท, กำลังซื้อในประเทศซบเซาลงไปกว่า 400,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น และนำไปสู่การก่อหนี้มากขึ้น

"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาถูกทางแล้ว และทุกมาตรการได้ผลหมด แต่เพราะปัญหาที่กล่าวมาแล้วซึมลึกเกินกว่าที่มาตรการกระตุ้นจะเข้าไปดันให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้ เหมือนบ่อมันลึกถมดินลงไปน้อยยังไงก็ไม่รู้สึก แต่ยังดีว่าส่วนใหญ่ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะดีขึ้น แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่รู้สึกก็ตาม โดยเฉพาะภาคตะวันออกที่ฟื้นตัวได้ดีกว่าภาคอื่นๆ จากการขนส่ง การท่องเที่ยว ค้าส่งและค้าปลีก ขณะที่ภาคใต้ฟื้นตัวชัดจากราคายางที่สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 40 บาท เป็น 60 บาท ส่วนภาคอื่นๆ ฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก อย่างไรก็ตามคาดว่า เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวช่วงครึ่งแรกของปี 60 เป็นต้นไป" นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจไทยทั้งปี คาดว่าจะโตได้ 3% การส่งออกขยายตัว 0.8% อัตราเงินเฟ้อ ขยายตัว0.4% โดยภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาครัฐเป็นปัจจัยบวกหลัก ๆ ต่อเศรษฐกิจภูมิภาค แต่ยังต้องจับตาปัจจัยลบคือ ภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือนสูง สถาบันการเงินยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ