ศาลปกครอง นัดฟังคำสั่งปมสหภาพฯทีโอที ฟ้อง กสทช.กับพวก ทวงสิทธิใช้คลื่น 900 MHz วันที่ 2 มิ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 27, 2016 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กับพวกรวม 24 คน ในวันที่ 2 มิ.ย. 59 เวลา 10.30 น. กรณีไม่ดำเนินการพิจารณาเรื่องสิทธิการใช้คลื่นความถี่ 900 MHZ ที่บมจ.ทีโอที ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่มาจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ กรมไปรษณีย์โทรเลข และ คณะกรรมการ กสทช.ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม แต่กลับจำกัดสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ 900 MHZ ให้สิ้นสุดการใช้งาน พร้อมกับการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ บมจ.ทีโอที อนุญาตให้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ให้บริการ เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ สหภาพฯ ทีโอที ได้บรรยายถึงความเดือดร้อนเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ บมจ.ทีโอที โดยตรงในฐานะที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และในฐานะผู้ครอบครองและใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มาแต่เดิมจากการกระทำของคณะกรรมการ กสทช.ที่จะดำเนินการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกประมูลในวันที่ 15 ธ.ค.58 หาได้มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดี เพราะ สหภาพฯ ทีโอที เป็นเพียงนิติสัมพันธ์ระหว่างกันตาม พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 เท่านั้น โดยเฉพาะการเจรจาต่อรองกันในเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจทำให้ผลประโยชน์ของการเจรจาต่อรองของผู้ฟ้องคดีลดน้อยลง จากการที่ บมจ.ทีโอที ไม่ดูแลปกป้องผลประโยชน์ขององค์กร แต่ก็ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของคณะกรรมการ กสทช. ในการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกประมูล ซึ่งหาก สหภาพฯทีโอที เห็นว่าการละเลยของนายจ้าง หรือผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจะทำให้องค์กรได้รับความเสียหายก็สามารถกระทำได้ โดยการร้องเรียนต่อผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจนั้นๆ

ดังนั้นเมื่อการกระทำของคณะกรรมการ กสทช.มิได้มีผลกระทบโดยตรง สหภาพฯ ทีโอที จึงไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำของคณะกรรมการ กสทช.ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ