พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวในการตรวจเยี่ยมบมจ.ปตท. (PTT) วันนี้เพื่อสอบถามถึงความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งปตท.ก็มีแผนงานรองรับอยู่แล้ว ส่วนการที่บริษัทต่างชาติมีแผนจะขายสัดส่วนการลงทุนแหล่งปิโตรเลียมในไทยออกมา หลังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ต่ำนั้น กลุ่มปตท.ก็พร้อมที่จะเข้าลงทุนแทน เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมมีความต่อเนื่อง
"การที่ต่างประเทศจะถอนการลงทุนจากไทยนั้นด้วยจากปัจจัยต่างๆ ถ้าไม่มีใครสนใจ ปตท.ก็พร้อมเข้าไปแทนเพื่อให้การผลิตมีศักยภาพต่อเนื่อง"พล.v.อนันตพร กล่าวตอบผู้สื่อข่าวกรณีที่เชฟรอนจะขายสัดส่วนหุ้นที่ถืออยู่ 16% ของแหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย
อนึ่ง กลุ่มเชฟรอน ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเลียมยักษ์ใหญ่ของสหรัฐได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำต่อเนื่องจนประกาศแผนการปรับลดต้นทุน รวมถึงมีการประกาศขายสินทรัพย์ปิโตรเลียมบางแหล่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงแหล่งยาดานา ในเมียนมา และอาทิตย์ในอ่าวไทย รวมถึงมีแผนปรับลดพนักงานในไทยบางส่วนด้วย เช่นเดียวกับกลุ่มเชลล์ ที่ได้ประกาศขายสัดส่วนราว 22% ของแหล่งบงกช ในอ่าวไทยเช่นกัน
รมว.พลังงาน กล่าวว่า เชฟรอนจะประกาศขายสินทรัพย์บางแห่งในภูมิภาค แต่ก็เป็นสินทรัพย์ขนาดเล็ก แต่สินทรัพย์ขนาดใหญ่จะยังคงมีการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งขนาดใหญ่ในอ่าวไทย และกำลังจะหมดอายุลงในปี 65 นั้น เชฟรอนน่าจะยังสนใจจะดำเนินการต่อ ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุด้วยการเจรจากับรายเดิมให้เข้ามาบริหารจัดการต่อก่อน ซึ่งจะมีความคืบหน้าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 30 พ.ค.นี้
นอกจากนี้ ในการประชุม กพช.ก็จะมีการหารือเรื่องการสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 ซึ่งกำหนดให้ปตท.เป็นผู้ดำเนินการ และจะมีข้อสรุปขนาดคลัง LNG ดังกล่าวออกมา
ด้านนายวิศรุต ตั้งสุนทรขัณฑ์ วิศวกรปิโตรเลียมชำนาญการพิเศษ ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุทั้งแหล่งเชฟรอน และ บงกชในปี 65-66 รวม 2,214 ล้านลูกบาศ์กฟุต/วัน หรือ 70% ของกำลังผลิตในประเทศ โดยการบริหารจัดการ ขึ้นอยู่กับกพช.จะเลือกแนวทางใด ซึ่ง ซึ่งจะเสนอ 2 แนวทาง โดยแนวทางแรกจะเจรจากับรายเดิม และการเปิดประมูล ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลัก คือ ผลตอบแทนแก่รัฐไม่ต่ำว่าสัญญา Thailand 3 โดยหากไม่เร่งจัดการปริมาณก๊าซฯจะค่อยๆลดลงในอีก 7 ปีข้างหน้าก๊าซฯจะหายไป 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ทำให้ต้องนำเข้า LNG มาทดแทนอาจกระทบค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) 85 สตางค์/หน่วย
ขณะที่แหล่งข่าวจากปตท. กล่าวว่า ปตท.เสนอสร้างคลัง LNG แห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะใช้เงินลงทุน 3.85 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการสร้างคลังขนาด 5 ล้านตัน/ปี ที่จะใช้เงินลงทุน 3.68 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาว่าควรจะลงทุนขนาดเท่าใด เพราะหากลงทุนมากเกินไปก็อาจจะกระทบกับค่าไฟฟ้า โดยปตท.อยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่ซึ่งคาดว่าอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมผาแดง จ.ระยอง โดยโครงการจะเริ่มสร้างปี 61 แล้วเสร็จในปี 64-65
สำหรับการเตรียมพร้อมของปตท.เพื่อรับมือสถานการณ์ราคาน้ำมันต่ำและทิศทางการใช้พลังงานที่จะเปลี่ยนไป อนาคตจะมีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทดแทนน้ำมัน ปตท.ได้รายงานว่ามีการเตรียมพร้อม ปรับแผนลงทุนต่างประเทศ ลดต้นทุน ชะลอโครงการลงทุนบางโครงการ มีธุรกิจที่หลากหลาย จึงไม่น่าเป็นกังวลในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วง ปตท.เรื่องกระแสความไม่เข้าใจของภาคประชาชน โดยขอให้ ปตท.ทำความเข้าใจและทำธุรกิจกับท้องถิ่นให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากขึ้น ซึ่ง ปตท.ได้รายงานว่าธุรกิจนอนออยล์ หรือธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน เช่น กาแฟอเมซอนได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟ และในอนาคตนอนออยล์ เหล่านี้ อาจจะต้องแยกเป็นบริษัทเพื่อความคล่องตัวและประชาชนจะได้เข้าใจธุรกิจของปตท.มากขึ้น
นอกจากนี้ ปตท.รายงานด้วยว่า ปตท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯก็พร้อมดำเนินการตามกฎหมาย หากร่างกฏหมายใหม่ที่ดูแลรัฐวิสาหกิจ คือ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ (ซูปเปอร์โฮลดิ้ง)มีผลบังคับใช้