(เพิ่มเติม) สศค.เผยเศรษฐกิจ เม.ย.ส่งสัญญาณดีขึ้นตามบริโภค-ลงทุนเอกชน รายได้เกษตรกรพลิกเป็นบวก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 30, 2016 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน เม.ย.59 ว่า เศรษฐกิจไทยสะท้อนสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนในหมวดก่อสร้าง

ขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลยังเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยโดยขยายตัวสูงที่ 16.8% ต่อปี สำหรับการส่งออกสินค้ากลับมาหดตัวอีกครั้งในกลุ่มตลาดและสินค้าส่งออกหลัก ในด้านอุปทานพบว่าภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้

นายกฤษฎา กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/59 จะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาส 1/59 เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้อัดฉีดลงไป และการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในโครงการลงทุนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มการบริโภคในประเทศหลังจากนี้เชื่อว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นอีก และน่าจะอยู่ในวิสัยที่กระทรวงการคลังดูแลได้

อย่างไรก็ดี สศค.จะเร่งติดตามภาพรวมการส่งออกของประเทศหลังจากที่ตัวเลขเดือนเม.ย.กลับมาติดลบ 8% แต่เชื่อว่าตัวเลขทั้งปียังอยู่ภายใต้คาดการณ์ และต้องรอดูในช่วงที่หลือจากนี้

"เชื่อว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบในการลงทุนต่างๆ จะเร่งเดินหน้าใช้จ่ายงบฯ อย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามนโยบายของรองนายกฯ สมคิด ที่เร่งให้รัฐวิสาหกิจลงทุนอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีได้เป็นอย่างดี"นายกฤษฎา กล่าว

ทั้งนี้ สศค.รายงานว่า ในเดือน เม.ย.การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 2.5% ต่อปี โดยเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัว 6.2% ต่อปี ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าหดตัว -3.6% ต่อปี

ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวได้เช่นกันที่ 2.9% ต่อปี เนื่องจากมีโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย กอปรกับราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพาราที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรที่แท้จริงให้กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 4 เดือน มาอยู่ที่ 2.7% ต่อปี

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 61.5 เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เป็นสำคัญ

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณดีขึ้นจากการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 58.8% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 15.7% ต่อปี ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัว 0.1% ต่อปี การลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักรยังชะลอตัวสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหดตัว -13.4% ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่า หดตัวเช่นกันที่ -7.2% ต่อปี

สศค.ระบุว่า สถานการณ์ด้านการคลังสะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายของรัฐบาลจากการเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวในระดับสูง สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 223.6 พันล้านบาท ขยายตัว 16.8% ต่อปี โดยการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 211.5 พันล้านบาท ขยายตัว 18.2% ต่อปี มาจาก (1) รายจ่ายประจำ 186.3 พันล้านบาท ขยายตัว 19.3% ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 25.2 พันล้านบาท ขยายตัว 10.6% ต่อปี

ส่วนการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 170.3 พันล้านบาท หดตัว -0.5% ต่อปี ขณะที่ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -56.4 พันล้านบาท

ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้ากลับมาหดตัวอีกครั้ง มูลค่าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวอยู่ที่ -8.0% ต่อปี โดยเป็นการหดตัวตามกลุ่มสินค้าส่งออกในทุกกลุ่มสินค้า ยกเว้นเกษตรกรรมที่ยังขยายตัวเป็นบวก ขณะที่ภาพรวมการส่งออกรายตลาดหดตัว โดยเฉพาะคู่ค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และ ASEAN-9 แต่ตลาดส่งออกไปฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและเวียดนามยังสามารถขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังหดตัวน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานขยายตัวได้ดีจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่องที่ 9.8% ต่อปี โดยเฉพาะจีน รัสเซีย เกาหลี และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวชะลอลงที่ -1.6% ต่อปี โดยเฉพาะข้าวเปลือกและปาล์มน้ำมัน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 85.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทและปัญหาภัยแล้ง

เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.1% และ 0.8% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.96 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน มี.ค.59 อยู่ที่ 44.0%

ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน เม.ย.59 อยู่ที่ 178.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.2 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ