ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือน เม.ย.59 ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงส่งที่ดีจากภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตยังขยายตัวค่อนข้างต่ำ เพราะการส่งออกสินค้ายังคงซบเซาตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ประกอบกับกำลังซื้อภายในประเทศได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลต่อเนื่องให้การลงทุนภาคเอกชนยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องอย่างชัดเจน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลงเล็กน้อยหลังจากที่เร่งไปมากในเดือนก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกเล็กน้อยตามการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดและราคาน้ำมัน อัตราการว่างงานทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล จากมูลค่าการนำเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ดี
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. ระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว 9.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยส่วนหนึ่งได้รับประโยชน์จากการขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศของสายการบินต้นทุนต่ำ ทั้งนี้ การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวส่งผลให้ภาคบริการที่เกี่ยวข้องขยายตัวดี ทั้งธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและธุรกิจขนส่ง การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน
โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์จากความต้องการรถกระบะดัดแปลงรุ่นใหม่ ประกอบกับฐานการผลิตที่ต่ำในปีก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนสายการผลิตสินค้า นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวดีโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศตามสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ และการผลิตปิโตรเลียมกลับมาขยายตัวหลังจากที่มีการปิดปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันในเดือนก่อน โดยราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำมีส่วนสนับสนุนความต้องการใช้น้ำมัน โดยเฉพาะในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การผลิตเพื่อส่งออกโดยรวมยังไม่ดี สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน และประเทศในภูมิภาค ประกอบกับบางอุตสาหกรรมเผชิญข้อจ่ากัดเชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยในประเทศ และจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนนี้กลับมาหดตัวค่อนข้างมากที่ 7.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในหลายหมวดสินค้าตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะจีนและอาเซียน ประกอบกับปัจจัยบวกชั่วคราวหมดไป ทั้งการส่งออกทองคำ และการส่งออกเครื่องจักรเพื่อขุดเจาะน้ำมันไปยังบราซิลในช่วงก่อนหน้า
นอกจากนี้ การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปญี่ปุ่นหดตัว เพราะโรงงานผลิตรถยนต์บางแห่งในญี่ปุ่นหยุดการผลิตชั่วคราวภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว อย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปกลุ่มประเทศอาเซียนขยายตัวดี โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ รวมทั้งความต้องการสินค้าในตลาดเวียดนามเติบโตตามภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวดี
ด้านอุปสงค์ในประเทศ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนมีทิศทางขยายตัวได้ แต่ครัวเรือนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย ส่วนหนึ่งจากกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังเปราะบาง ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่แม้ปรับดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อนตามราคายางพารา แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำจากผลกระทบของภาวะภัยแล้ง ส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนยังคงลดลงจากเดือนก่อน และอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาครัฐยังมีต่อเนื่องแม้แผ่วลงบ้าง โดยรายจ่ายลงทุนทั้งในและนอกงบประมาณชะลอลงหลังมีการเร่งเบิกจ่ายไปมากในช่วงก่อนหน้า อาทิ โครงการด้านคมนาคมและชลประทาน อย่างไรก็ดี รายจ่ายประจำที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวตามการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ
มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 13.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้า ทั้งนี้ การนำเข้าในหมวดสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบหดตัวตามภาวะการส่งออกสินค้าที่ซบเซาและอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่การนำเข้าหมวดสินค้าทุนหดตัว สะท้อนภาวะการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีเพียงพอ สอดคล้องกับการระดมทุนโดยรวมของภาคธุรกิจที่ยังต่ำ แม้จะปรับดีขึ้นบ้างในเดือนนี้
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกเล็กน้อยที่ 0.07% จากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดและราคาน้ำมัน ส่าหรับอัตราการว่างงานทรงตัวจากเดือนก่อน โดยมีสัญญาณการจ้างงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะในภาคเกษตร ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.2 พันล้านดอลลาร์สรอ. จากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ดีต่อเนื่อง และมูลค่าการนำเข้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ 0.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จาก 1) การขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศ 2) การชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นที่ครบกำหนดโดยเฉพาะของสถาบันรับฝากเงิน และ 3) การลงทุนโดยตรงของธุรกิจ ไทยในต่างประเทศ