คปพ.ขวางมติกพช.เปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ เชื่อไม่โปร่งใส หวั่นล็อคสเปครายเดิม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 31, 2016 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ประมาณ 25 คนนำโดยนางบุญยืน ศิริธรรมและนายอิฐบูรณ์ อ้นวงศ์ษา เดินทางมายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์บริการประชาชน เพื่อเรียกร้องวิธีการประมูลแข่งขันในการให้สิทธิผลิตปิโตรเลียมในแหล่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณให้เกิดความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลและเป็นสากล

พร้อมเรียกร้องรมว.พลังงาน พิจารณาตัวเองหากไม่มีความสามารถพอที่จะดำเนินการจ้างผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชที่มีศักยภาพสูงที่สุดในประเทศได้

"แหล่งปิโตรเลียมทั้งสองแห่ง ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีแหล่งก๊าซธรรมชาติแน่นอน มีลูกค้าที่ชัดเจน ดังนั้นจะใช้ระบบการให้สัมปทานเหมือนแหล่งอื่น ๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนไม่ได้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย จึงเสนอให้ใช้วิธีการประมูลค่าจ้างผลิตต่ำสุดในระบบจ้างผลิต โดยให้เป็นการแข่งขันเสรีและโปร่งใสได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่นการประมูลในระบบคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 4G ที่ผ่านมา"

โดยทาง คปพ.เรียกร้องให้วิธีการประมูลแข่งขัน ต้องให้เกิดความโปร่ง มีธรรมาภิบาล และเป็นสากล โดยจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อมาถือครองกรรมสิทธิ์และขายปิโตรเลียมให้มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้จากทุกภาคส่วนภายใน 6 เดือน และให้ยุติแนวทางการประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิต รวมถึงให้รัฐบาลร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดเวทีสาธารณะ เพื่อเปิดเผยเนื้อหาและการทำประชาพิจารณ์ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างแก้ไขพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

พร้อมเห็นว่าแนวทางที่กระทรวงพลังงานดำเนินอยู่ขาดหลักการ มีความไม่โปร่งใส และยังคงใช้ดุลยพินิจส่วนบุคคล หรือคณะบุคคลเป็นหลัก จึงทำให้คปพ.มีข้อสงสัย คือไม่มีความชัดเจนว่าแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และบงกช ที่กำลังจะหมดอายุลงนั้น จะใช้วิธีการประมูลในระบบใด ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ของรมว.พลังงาน เป็นการปูทางไปสู่การประมูลแบบระบบสัมปทานเดิม โดยใช้กลุ่มคนกลุ่มเดียวเป็นผู้ตัดสินใจใช่หรือไม่

นอกจากนี้กรณีที่รมว.พลังงาน กล่าวว่า เมื่อทำการเปิดการประมูลในแหล่งเอราวัณและบงกช ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้ว หากไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล จะใช้วิธีเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิมนั้น อาจทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ต้องการช่วยเหลือผู้รับสัมปทานรายเดิม มีแรงจูงใจดำเนินการตั้งเงื่อนไขในการประมูลหรือ“ล๊อคสเปค" ให้คู่แข่งขันรายใหม่ไม่สามารถเข้าแข่งขันได้จริง ทั้งที่ในธุรกิจนั้นมีบริษทั้งพลังงานขนาดใหญ่อีกหลายบริษัทในอีกหลายประเทศที่มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะเข้ามาร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ราคาพลังงานโลกลดต่ำลงกว่าเดิม แหล่งบงกชและเอราวัณ ที่กำลังดำเนินเนินการผลิตปิโตรเลียมอยู่และมีลูกค้าอยู่แล้วแน่นอน จึงเป็นที่สนใจของบริษัทพลังงานเป็นอย่างมากเพราะสามารถทำเงินและสร้างกำไรให้ผู้ประกอบการได้ทันทีจึงความเสี่ยงต่ำกว่าการพัฒนาแหล่งใหม่เป็นอย่างมาก

โดยในปัจจุบันแหล่งบงกชและเอราวัณ มีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 2,200 ล้านลบ.ฟ./วัน หรือประมาณ 76% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่มีมูลค่าประมาณกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปีซึ่งถือเป็นหลักประกันความสำเร็จของผู้ประกอบการอย่างแน่นอน

อีกทั้ง หากกระทรวงพลังงานได้วางแผนบริหารจัดการตั้งแต่เมื่อครั้งมีการต่ออายุสัมปทานแหล่งบงกชและเอราวัณ ในปี 50 ด้วยการเตรียมการประมูลให้รายใหม่เข้ามาดำเนินการโดยการกำหนดเงื่อนไขในการต่อสัญญา ให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมจะต้องถ่ายโอนการดำเนินการและถ่ายโอนเทคโนโลยีล่วงหน้าก่อนสัมปทานจะหมดอายุลง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีและให้มีการดำเนินการร่วมระหว่างผู้รับสัมปทานรายเดิม กับผู้ประมูลรายใหม่ในช่วง 2 ปีสุดท้ายก็จะทำให้การถ่ายโอนการดำเนินการในทั้ง 2 แหล่งเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่สมควรมากล่าวโทษประชาชนว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติอันเป็นเหตุทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น

นอกจากนี้หากผู้รับสัมปทานลดกำลังการผลิต ตามที่ รมว.พลังงานจินตนาการเอาเองแทนผู้รับสัมปทานนั้น ถ้าเกิดขึ้นจริง ก็ต้องถือเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงานเอง ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เกิดการดำเนินการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องตามบทบัญญัติ มาตรา 52 ทวิวรรคสาม และวรรคสี่แห่ง พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ความว่า “ถ้าผู้รับสัมปทานไม่สามารถเจรจาทำความตกลงกับรัฐบาลได้ภายใน 12 เดือนนับแต่วันที่ผ้รูบสัมปทานได้รับข้อเสนอจากรัฐบาลตามวรรคหนึ่งและรัฐบาลเห็นว่าการเร่งรัดการผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวเป็นความจำเป็นแก่เศรษฐกจิของประเทศ รัฐบาลมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับสัมปทานทราบว่า รัฐบาลจะเข้าใช้สิทธิประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่นั้นด้วยความเสี่ยงภัยแต่ฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ คปพ. จึงขอเรียกร้องวิธีการประมูลแข่งขันในการให้สิทธิผลิตปิโตรเลียมในแหล่งปิโตรเลียมบงกช และเอราวัณ ให้เกิดความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลและเป็นสากล ดังต่อไปนี้ 1.จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อมาถือครองกรรมสิทธิ์และขายปิโตรเลียม ให้มีประสิทธิภาพโปร่งใส และตรวจสอบได้ จากทุกภาคส่วน ภายใน 6 เดือน

2.ให้ยุติแนวทางการประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิตในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชตามแนวทางของกระทรวงพลังงาน เพราะทั้งสองแหล่งปิโตรเลียมนี้ มีศักยภาพและปริมาณปิโตรเลียมเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน และเพื่อป้องกันในการวางเงื่อนไขหรือล็อคสเปค เพื่อกีดกันทำให้ไม่มีผู้เข้าแข่งขันประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิต อันนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับสัมปทานรายเดิม จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยึดยุทธศาสตร์นำแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชที่เคยอยู่ภายใต้อาณัติของผู้รับสัมปทานเอกชนเกือบครึ่งศตวรรษ ให้กลับคืนมาเป็นของชาติ 100% โดยให้จัดการประมูลแข่งขันด้วยระบบจ้างผลิต เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างผลิตที่เสนอค่าจ้างผลิตปิโตรเลียมต่ำสุดในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทาน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เพื่อรัฐจะสามารถถ่ายโอนการดำเนินการการผลิตได้ทันทีนับแต่วันที่ได้ผู้รับจ้างผลิต และสามารถดำเนินการได้เมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทานของรายเดิม

3.ให้รัฐบาลร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดเวทีสาธารณะ เพื่อเปิดเผยเนื้อหาและทำประชาพิจารณ์ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่างแก้ไขพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยให้ภาคประชาชนและนักวิชาการทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างและแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมอย่างเต็มที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ