พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรสำหรับปีการผลิต 2559/2560 รวม 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีเพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกในปีการผลิต 59/60 2.โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปสู่การปลูกพืชที่หลากหลาย ในฤดูนาปรังปี 60 และ 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวจากแปลงใหญ่ ในปีการผลิต 59/60
สำหรับโครงการแรก โครงการสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีเพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกในปีการผลิต 59/60 นั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมการข้าว โดยจะให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอรับเมล็ดพันธุ์จากภาครัฐ กลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกรที่ปลูกข้าวหอมมะลิอยู่แล้วในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 6.4 แสนไร่ คิดเป็น 64,000 ครัวเรือน โดยจะคัดเลือกเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วกับกรมส่งเสริมการเกษตร และสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ให้ครัวเรือนละไม่เกิน 125 กก. สามารถไปปลูกในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ไร่ ระยะเวลาดำเนินการ เม.ย.59 - ม.ค.60 รวม 10 เดือน ใช้เงินทั้งสิ้น 206 ล้านบาท
โครงการที่สอง โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปสู่การปลูกพืชที่หลากหลายในฤดูนาปรังปี 60 หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมส่งเสริมการเกษตร วัตถุประสงค์คือลดการทำนาปรัง และให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นทดแทนที่ใช้น้ำน้อยกว่า และได้รายได้ดีกว่า กลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรที่ปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ 3 แสนไร่ รวม 60,000 ครัวเรือน ระยะเวลาดำเนินการ เม.ย.59-เม.ย.60 วงเงินที่รัฐบาลอนุมัติจากงบกลาง 636.52 ล้านบาท
โครงการที่สาม โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวแปลงใหญ่ กลุ่มเป้าหมายคือ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่ผ่านความเห็นชอบเป็นกลุ่มผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ จากคณะอนุกรรมการนโยบายและพัฒนาการเกษตรของจังหวัดแล้ว มีทั้งสิ้น 426 กลุ่ม หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กำหนดวงเงินให้ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อ 2,130 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้
"ครม.เห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบฯ ว่าอยากให้ใช้อัตราดอกเบี้ยแบบเดียวกับอัตราดอกเบี้ยที่เคยใช้ในโครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิต สู้วิกฤติภัยแล้ง คืออัตราดอกเบี้ย 3.51% ดังนั้นรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 3.5% ที่เหลือเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยแค่ 0.01% ซึ่งจะทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเพื่อชดเชยดอกเบี้ย 74.55 ล้านบาท" พล.ต.สรรเสริญ ระบุ