(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน พ.ค.59 ขยายตัว 0.46%,Core CPI ขยายตัว 0.78%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 1, 2016 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน พ.ค.59 อยู่ที่ 107.02 ขยายตัว 0.46% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.58 และ ขยายตัว 0.56% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนของปี 59 CPI หดตัว 0.20%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน พ.ค.59 อยู่ที่ 106.58 ขยายตัว 0.78% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.58 และขยายตัว 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดย Core CPI ช่วง 5 เดือน ขยายตัว 0.72%

ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เดือน พ.ค.59 อยู่ที่ 117.21 เพิ่มชึ้น 1.54% เทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 2.97% เทียบกับเดือน พ.ค.58 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหาร อยู่ที่ 101.62 ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ลดลง 0.94% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.58

อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ขยายตัวสูงขึ้น 0.46% โดยได้รับปัจจัยจาก 1.หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอออล์ เนื่องมาจากการปรับขึ้นของราคาผักสดและผลไม้ เนื้อสุกร ไข่ไก่ และอาหารสำเร็จรูป จากอุปทานในตลาดลดลง อันเป็นผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทำให้พืชและสัตวืเติบโตได้ช้า

2. หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา จากการเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาในช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่ปี 59 และ 3.หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล มีการปรับขึ้นเล็กน้อยในส่วนของค่าบริการส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตาม หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร และหมวดเคหสถานยังคงฉุดรั้งอัตราเงินเฟ้อ เนื่องมาจากราคาน้ำมันและพลังงานและค่ากระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ผลกระทบทางลบจากราคาน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้นเข้าใกลราคาในปีก่อนหน้าและผลของฐานราคาสูงมีแนวโน้มลดลง

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มเป็นบวก โดยประเมินว่าในไตรมาส 3 จะขยายตัว 1% และไตรมาส 4 โต 2% ขณะที่ทั้งปียังคงประมาณการเงินเฟ้อที่ 0.0-1.0% โดยประเมินว่าปัจจัยสนับสนุนยังมีผลต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ขณะที่สถานการณ์ Supply Disruption ในตลาดน้ำมันเริ่มคลี่คลาย อุปทานน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง, เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีปัจจัยสำคัญ คือการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

"เราดูแล้วปัจจัยต่างๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลง เราจึงยังไม่ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อของปี 59 โดยคาดว่ายังคงอยู่ในช่วง 0-1% สาเหตุที่กระทรวงพาณิชย์ไม่ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 59 เนื่องจากเชื่อว่าปัจจัยจากสมมติฐานเดิมที่สำคัญทั้ง 3 ด้านจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ไว้ที่ 2.8-3.8% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 36-38 บาท/ดอลลาร์"นายสมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ดี ระหว่างนี้เงินเฟ้อยังมีโอกาสกลับไปติดลบได้ในช่วงระยะสั้นๆ เนื่องจากเมื่อสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดมากขึ้นและมีราคาลดลง อาจจะมีส่วนกดดันให้เงินเฟ้อลดลงได้เล็กน้อย แต่มองว่าในช่วงปลายปีราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะมีโครงการลงทุนก่อสร้างจากภาครัฐและเอกชนมากขึ้น ดังนั้นเมื่อถัวเฉลี่ยกันแล้วก็เชื่อว่าทั้งปีเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะเป็นบวกได้มากกว่า

"เงินเฟ้อมีโอกาสกลับไปติดลบได้ในช่วงสั้นๆ เมื่อผลผลิตทางการเกษตรออกมามากขึ้น แต่พอช่วงปลายปี แนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างจะเป็นตัวช่วยดึงให้เงินเฟ้อเป็นบวก เพราะช่วงนั้นจะมีโครงการลงทุนก่อสร้างเข้ามามากขึ้น" นายสมเกียรติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ