นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ยอมรับว่า การเก็บภาษีของกรมศุลกากรที่ยังมีการรั่วไหลค่อนข้างมาก ซึ่งได้ส่งผลกระทบกับมาตรการทำบัญชีเดียวที่กรมสรรพากรกำลังดำเนินการอยู่ และทำให้มาตรการดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ เนื่องจากผู้นำเข้ายังมีการแจ้งราคาและปริมาณนำเข้าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง รวมถึงการแจ้งแหล่งกำเนิดเป็นเท็จเพื่อเสียภาษีในอัตราต่ำ ส่งผลให้การลงบัญชีเดียวไม่ถูกต้องไปด้วย ดังนั้นจึงได้ขอให้อธิบดีกรมศุลกากรเร่งไปดำเนินการแก้ไขให้มีความรัดกุมและเข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้มีการเสียภาษีที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง
พร้อมระบุว่า การทุจริตภาษีของกรมศุลกากรที่มีการสำแดงราคาต่ำกว่าเป็นจริงนั้น กรมศุลกากรได้แก้ไขโดยการซื้อข้อมูลราคาสินค้าที่มีการนำเข้าจากทั่วโลก ใช้เป็นราคาอ้างอิงราคานำเข้า สำหรับการสำแดงปริมาณต่ำ เช่น มีการนำเข้าสินค้ามา 100 ชิ้น แต่แจ้งว่านำเข้ามา 80 ชิ้น ก็แก้ไขจะให้มีการชั่งน้ำหนักตู้ หากไม่ตรงก็จะให้ดำเนินการตรวจสอบการนำเข้า
"การจ่ายภาษีไม่ถูกต้องถือเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น ประเทศไม่ได้เงิน และเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการที่เสียภาษีถูกต้อง ได้สั่งการให้กรมศุลกากรแก้ไขเรื่องดังกล่าวให้เข้มข้นมากขึ้นกว่าที่ทำอยู่เดิม ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาการจัดอันดับการคอร์รัปชั่นของไทยในปี 2558 จะดีขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 76 จากปีก่อนหน้าอยู่ลำดับที่ 85 จากทั้งหมดกว่า 170 ประเทศก็ถือว่ายังไม่น่าพอใจ ยังต้องมีการแก้ไขเรื่องนี้อีกมาก" รมว.คลังกล่าว
รมว. คลัง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ นอกจากการป้องกันไม่ให้ทุจริตจากการเสียภาษีแล้ว ยังป้องกันจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่าปีละ 5 แสนล้านบาท โดยที่ผ่านมีการใช้ระบบ e-Bidding ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาประหยัดเงินงบประมาณเกือบ 3 หมื่นล้านบาท มีการประมูลต่ำกว่าราคากลางถึง 30% เฉลี่ยแล้วประหยัดเงินงบประมาณไปได้ถึง 15% ซึ่งหากรัฐบาลสามารถประหยัดงบตรงนี้ได้ทั้งหมด 10% ก็จะเป็นเงินที่ประหยัดได้ 5 หมื่นล้านบาท สามารถนำไปพัฒนาประเทศในส่วนอื่นได้อีกมาก
สำหรับการใช้มาตรการทำบัญชีเดียว ซึ่งต่อไปจะเชื่อมกับระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) จะทำให้ข้อมูลการซื้อขายทั้งหมดต้องผ่านระบบกรมสรรพากร ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการจัดเก็บภาษีของประเทศเพิ่มขึ้นโดยรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยผลดีดังกล่าวจะค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ