ศาลปกครองสูงสุดยืนคำสั่งไม่รับพิจารณาคดีสหภาพฯ ทีโอที ฟ้อง กสทช.กับพวก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 2, 2016 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นไม่รับพิจารณาคำฟ้องที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที ยื่นฟ้อง คณะกรรมการ กสทช. ที่ 1 กับพวกรวม 24 ราย ในคดีคลื่นความถี่ 900 MHz. และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากไม่ใช้ผู้ที่มีสิทธิฟ้องในคดีดังกล่าว

"กรณีก็เป็นการกล่าวอ้างความเสียหายที่มีผลโดยตรงต่อบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งหากบริษัทได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างจริงก็เป็นหน้าที่ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเอง การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ได้มีผลโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดี และถึงแม้ผู้ฟ้องคดีอาจะมีหน้าที่ปกป้องสิทธิประโยชน์ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนายจ้าง โดยผู้ฟ้องคดีอาจดำเนินการใดๆ ได้เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ดังกล่าว แต่หน้าที่ดังกล่าวย่อมไม่รวมถึงสิทธิในการฟ้องร้องคดีของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องจึงไม่ใช่ผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น

การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น" คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ระบุ

คดีนี้สหภาพฯ ทีโอที ระบุว่า การที่คณะกรรมการ กสทช. ที่ 1 กับพวกรวม 24 ราย ไม่ดำเนินการพิจารณาเรื่องสิทธิการใช้คลื่นความถี่ 900 MHZ ที่ บมจ.ทีโอที ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่มาจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ กรมไปรษณีย์โทรเลข และคณะกรรมการ กสทช.ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม แต่กลับจำกัดสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ 900 MHZ ให้สิ้นสุดการใช้งาน พร้อมกับการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ บมจ.ทีโอที อนุญาตให้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ให้บริการ เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

โดยก่อนหน้านี้ ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่สหภาพฯ ทีโอที ได้บรรยายถึงความเดือดร้อนเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ บมจ.ทีโอที โดยตรงในฐานะที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และในฐานะผู้ครอบครองและใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มาแต่เดิมจากการกระทำของคณะกรรมการ กสทช.ที่จะดำเนินการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกประมูลในวันที่ 15 ธ.ค.58 หาได้มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดี เพราะสหภาพฯ ทีโอที เป็นเพียงนิติสัมพันธ์ระหว่างกันตาม พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 เท่านั้น โดยเฉพาะการเจรจาต่อรองกันในเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจทำให้ผลประโยชน์ของการเจรจาต่อรองของผู้ฟ้องคดีลดน้อยลง จากการที่ บมจ.ทีโอที ไม่ดูแลปกป้องผลประโยชน์ขององค์กร แต่ก็ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของคณะกรรมการ กสทช. ในการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกประมูล ซึ่งหากสหภาพฯทีโอที เห็นว่าการละเลยของนายจ้าง หรือผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจะทำให้องค์กรได้รับความเสียหายก็สามารถกระทำได้ โดยการร้องเรียนต่อผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจนั้นๆ

ดังนั้นเมื่อการกระทำของคณะกรรมการ กสทช.มิได้มีผลกระทบโดยตรง สหภาพฯ ทีโอที จึงไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำของคณะกรรมการ กสทช.ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ