บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า จากการประชุม OPEC ในวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลต่อมุมมองทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงที่เหลือของปีให้ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงปัจจุบัน จากผลการประชุมที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกในการกำหนดเพดานการผลิตน้ำมัน ทำให้มองว่าอุปทานน้ำมันโลกจากประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปคจะยังคงระดับใกล้เคียงที่ 32 ล้านบาร์เรล/วัน
ในขณะที่ตัวแปรที่จะกระทบอุปทานน้ำมันโลกมาจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปค อย่างแคนาดาที่เผชิญปัญหาไฟป่าและไนจีเรียที่มีปัญหาการโจมตีท่อส่งน้ำมัน รวมถึงแท่นขุดเจาะ shale oil ของสหรัฐฯ ที่มีการปิดตัวลงไป ส่งผลต่อการลดลงของอุปทานน้ำมันในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จนให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปีที่ หากประเทศกลุ่มนอกโอเปคกลับมาฟื้นกำลังการผลิตน้ำมันได้ จะทำให้อุปทานน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ว่าจะทยอยปรับขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 44 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล โดยมีค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 41.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ประมาณการเดิมอยู่ที่ 37.5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล - เม.ย.59)
สำหรับกรอบประมาณการเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น เป็นผลมาจากราคาน้ำมันและอาหารที่เร่งตัวกว่าที่คาด โดยจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเร่งขึ้นกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับผลจากภาวะภัยแล้งที่กระทบราคาอาหารสูงกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเร่งขึ้นมาขยายตัวเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกันในเดือนเม.ย. และ พ.ค. ซึ่งราคาอาหารที่สูงขึ้นมานั้น คาดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว และผลกระทบจะทยอยหมดไปในช่วงไตรมาสที่ 3
ในขณะที่การปรับสมมติฐานราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปีที่สูงกว่าที่ประมาณการเดิมที่ให้ไว้ ประกอบกับผลจากฐานราคาพลังงานในประเทศที่ต่ำในปีที่ผ่านมาจะเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้กรอบประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2559 ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 0.6 (กรอบประมาณการที่ร้อยละ 0.3 - 0.9)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาพการใช้จ่ายครัวเรือน และการส่งออกที่ยังคงอ่อนแออยู่ ประกอบกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงก่อนหน้า สร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายเพิ่มเติมจากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
"จากทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวสูงขึ้น น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดแรงกดดันดังกล่าวลง แต่ก็ยังคงต้องติดตามถึงเส้นทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีซึ่งจะเป็นตัวแปรกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2559 ที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น เป็นการสะท้อนภาวะค่าครองชีพของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางรายได้ครัวเรือนที่ไม่ได้ปรับตัวขึ้นตามส่งผลกระทบต่อภาวะกำลังซื้อของประชาชนที่มีอยู่อย่างจำกัด สะท้อนได้จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารและพลังงาน) ที่ยังทรงตัว แต่อีกนัยหนึ่งราคาสินค้าในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นในหมวดอาหารทั้งผลผลิตทางการเกษตร ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์จากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้น จะเป็นการผลักให้ราคาส่งออกในสินค้าจำพวกนี้ปรับตัวขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากในหลายประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรก็เผชิญภาวะภัยแล้งเช่นกัน ทำให้มูลค่าการส่งออกจะได้อานิสงส์บวกจากปัจจัยดังกล่าว