เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2559 เรื่อง ชี้แจงกรณีนายกรัฐมนตรีพาดพิง คปพ. ให้รับผิดชอบหากการผลิตปิโตรเลียม บงกช และเอราวัณ ล่าช้า และทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ระบุว่า ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ให้ คปพ.รับผิดชอบถ้าราคาไฟฟ้าแพงขึ้นอันเนื่องมาจากการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และบงกช ล่าช้า จนเกิดปัญหาก๊าซขาดแคลน และต้องนำเข้าจากต่างประเทศนั้น เห็นว่าคำพูดดังกล่าวนั้น อาจมีสาเหตุเกิดจากนายกรัฐมนตรีได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด โดยผู้ให้ข้อมูลแก่นายกรัฐมนตรี ไม่ศึกษาข้อเสนอของ คปพ.ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน ซึ่งอาจเป็นผลทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและเสื่อมศรัทธาต่อนายกรัฐมนตรี ว่ามีอคติกับภาคประชาชนผู้ห่วงใยชาติบ้านเมือง อีกทั้งผู้ให้ข้อมูลแก่นายกรัฐมนตรี ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และหลงผิดในข้อมูลสำคัญอันอาจทำให้เสียประโยชน์ของชาติในอนาคตได้
การพูดพาดพิงของนายกรัฐมนตรีทำให้ คปพ.ได้รับความเสียหายจึงจำเป็นต้องออกมาชี้แจงความจริง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง กรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งผลิตปิโตรเลียมว่า “ภาคประชาชนไม่ยอมให้ทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาต่ออายุให้ผู้รับสัมปทานรายเดิม หรือการไม่เอาประมูล หรือการประมูลที่อาจจะเอื้อประโยชน์นั้น" ราวกับว่าประชาชนไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และเป็นอุปสรรคต่อการผลิตปิโตรเลียมของประเทศ
แต่ความเป็นจริงแล้ว คปพ.ได้เรียกร้องมาตลอดให้รัฐบาล ดำเนินการเร่งผลิตปิโตรเลียมด้วยการเปิดประมูลแข่งขันราคาอย่างโปร่งใส ทั้งในรูปแบบการประมูลผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือการประมูลค่าจ้างผลิตปิโตรเลียมต่ำที่สุดในระบบจ้างผลิตด้วยการแข่งขันราคาอย่างเสรีและเป็นธรรม ดังนั้น การกล่าวหาในทำนองว่า คปพ.เป็นอุปสรรคต่อการผลิตปิโตรเลียมนั้น จึงเป็นการใส่ร้ายป้ายสีที่ไร้เหตุผลและเป็นเท็จทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานลงนั้น เป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีปริมาณชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ คปพ.จึงไม่เห็นด้วยที่จะใช้การประมูลยื่นข้อเสนอแล้วใช้ดุลพินิจในการให้คะแนนอย่างที่เคยดำเนินการมาในระบบสัมปทานเดิม ซึ่งมีช่องว่างและความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส แต่เรียกร้องขอให้เปลี่ยนมาเป็นการให้รัฐถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมทั้งหมดเมื่อหมดอายุสัมปทานและใช้การประมูลในระบบการจ้างผลิตแทน
ประการที่สอง กรณีที่นายกรัฐมนตรีเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนอย่างแรงว่า คปพ.เสนอให้รัฐบาลผลิตปิโตรเลียมด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่รัฐบาลไม่มีความพร้อมในด้านเครื่องมือ และบุคลากรนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อหมดอายุสัมปทานตามกฎหมาย อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงแท่นขุดเจาะและเครื่องจักร ตลอดจนปิโตรเลียมที่เหลืออยู่ จะต้องตกเป็นของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยที่รัฐไม่ต้องลงทุนในทรัพย์สินเหล่านี้อีก
ด้วยเหตุนี้ คปพ.จึงเสนอให้นำแหล่งปิโตรเลียม เอราวัณ และบงกช มาเปิดประมูลในระบบจ้างผลิตโดยให้เอกชนแข่งขันด้วยค่าจ้างผลิตปิโตรเลียมที่ต่ำที่สุด และสามารถจ่ายค่าจ้างเป็นผลผลิตปิโตรเลียมก็ได้ ข้ออ้างเรื่องบุคลากรไม่พร้อม เครื่องมือไม่พร้อม และเงินไม่พร้อม จึงไม่ ถูกต้องแต่ประการใด
ประการที่สาม กรณีที่นายกรัฐมนตรีอ้างว่า “การที่รัฐบาลไม่ได้เตรียมเครื่องมือ และบุคลากรล่วงหน้าเพื่อผลิตปิโตรเลียมนั้นถูกต้องแล้ว เพราะประเทศไทยมีปิโตรเลียมน้อย กระเปาะเล็ก อาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน" นั้น
ในความเป็นจริงแล้ว ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้ได้กับแหล่งเอราวัณ และบงกช ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76 ของปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งกำลังจะหมดอายุสัมปทานลง ในปี พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 อีกทั้งตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาทั้งเชฟรอน และ ปตท.สผ. ต่างก็มีผลประกอบการกำไรอย่างมหาศาลจากการได้รับสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมทั้งสองแห่งนี้ ดังนั้นกรณีที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และบงกช ว่ามีปิโตรเลียมน้อย และกระเปาะเล็กไปปะปนกับแหล่งปิโตรเลียมอื่น สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่ให้ข้อมูลนายกรัฐมนตรี นำไปพูดออกอากาศทางโทรทัศน์นั้น ขาดความรู้ ขาดความรอบคอบ ไม่แม่นยำในข้อมูล และขาดความเข้าใจในข้อเท็จจริง ทำให้นายกรัฐมนตรีเสียหายในการพูดต่อสาธารณะชน ในด้านนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของชาติ
ประการที่สี่ กรณีที่นายกรัฐมนตรีอ้างว่า หากแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชดำเนินการล่าช้าออกไป จะส่งผลทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศซึ่งมีราคาที่แพงกว่า ซึ่งจะส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นและต้องให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เป็นผู้ต้องรับผิดชอบนั้น ในความเป็นจริงราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้านั้น มีราคาต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ได้จากระบบสัมปทานที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน ดังนั้นข้อห่วงใยที่ว่า ค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้นจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นั้น จึงไม่เป็นความจริง
จากหลักฐานข้อมูลพลังงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (US Energy Information Administration) และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานพบว่า ณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ราคาก๊าซธรรมชาติโลก โดยการประกาศของ Henry Hub ราคาอยู่ที่ 1.730 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยในสัมปทานที่ ปตท.สผ. บริหารอยู่ได้แก่ แหล่งบงกชมีราคาสูงถึง 5.208 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ราคาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชใต้อยู่ที่ 8.261 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ส่วนแหล่งเอราวัณที่เชฟรอนรับสัมปทานอยู่นั้นราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 5.477 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าระบบสัมปทานทำให้ก๊าซจากอ่าวไทยแพงกว่าราคาตลาดโลก 3 ถึง 5 เท่าตัว ดังนั้นการเร่งประเคนสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศแล้วอ้างว่าราคาพลังงานในประเทศจะต้องใช้ราคาตลาดโลกนั้น แท้ที่จริงแล้วประเทศไทยใช้ราคาพลังงานสูงกว่าตลาดโลกมานานแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง ทำให้นายกรัฐมนตรีย่อมไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาพลังงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างถูกต้องได้
การที่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากค่าไฟฟ้าต้องเพิ่มขึ้นเพราะความล่าช้า ในการให้สิทธิผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกช จนเป็นเหตุต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศนั้น คปพ.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และให้ประชาชนไปเล่นงาน คปพ.เอาเองนั้น
ขอเรียนชี้แจงด้วยความเคารพว่า ตราบใดที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ให้อำนาจกับ คปพ. รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติตามไม่ครบตามข้อเรียกร้องของคปพ. จะให้ คปพ.มารับผิดชอบไม่ได้ และจะใช้วิธีให้ข้อมูลประชาชนจนเกิดความกังวลใจและสับสนว่าความล่าช้าจะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่จะนำไปผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น แล้วโยนความผิดมาให้คปพ.) ก็ไม่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติสูงก็ดี หรือทำให้ก๊าซธรรมชาติขาดแคลนก็ดี หรือทำให้การประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชไม่เกิดการแข่งขันอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมได้จริงก็ดี ต้องถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เพียงผู้เดียว
คปพ.ขอยืนยันที่จะปฏิรูปพลังงานเพื่อประโยชน์สูงสุดให้แก่ชาติและประชาชน ด้วยเจตจำนงอันมุ่งมั่นต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ