ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดความตกลง TPP มีแนวโน้มล่าช้า แนะไทยใช้เป็นจังหวะสร้างแต้มต่อทางเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 6, 2016 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า นับจากวันที่ 4 ก.พ.59 ที่ 12 ประเทศสมาชิกได้ลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) แล้ว จุดจับตาคงอยู่ที่การลงมติให้สัตยาบันของสภาคองเกรสแห่งสหรัฐฯ เพื่อรับรองความตกลงฯ ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นปัจจัยชี้ขาดว่า TPP จะมีผลบังคับใช้หรือไม่ เนื่องจากเงื่อนไขหลักของการบังคับใช้ TPP คือ หากประเทศสมาชิกไม่สามารถให้สัตยาบันได้ครบทุกประเทศภายในระยะเวลา 2 ปี TPP จะยังคงสามารถบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีประเทศสมาชิกให้สัตยาบันอย่างน้อย 6 ประเทศ และมีจีดีพีรวมกันอย่างน้อย 85% ของ GDP รวมของกลุ่ม ขณะที่สัดส่วนจีดีพีสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 60% ของ GDP รวมของกลุ่ม TPP

ด้วยบรรยากาศทางการเมืองและประเด็นความอ่อนไหวต่างๆ ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับฝ่ายบริหารชุดปัจจุบันในการเสนอร่างความตกลง TPP เพื่อให้สภาคองเกรสดำเนินการให้สัตยาบันให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ความตกลง TPP อาจจะไม่ได้รับการเสนอให้สภาคองเกรสรับรองภายในปี 2559 และจำเป็นต้องรอประธานาธิบดีคนใหม่เพื่อดำเนินการเสนอต่อสภาคองเกรสต่อไป

"ความไม่แน่นอนทางกระแสการเมืองในสหรัฐฯ ที่มีต่อ TPP ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นที่การบังคับใช้ความตกลง TPP จะล่าช้าออกไป และในกรณีเลวร้ายที่สุด ความตกลง TPP อาจไม่สามารถบังคับใช้ได้ทันภายในกำหนดเวลา 2 ปี (4 ก.พ.61) และกลายเป็นโมฆะในที่สุด" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ในกรณีที่ความตกลง TPP กลายเป็นโมฆะนั้น แม้ประเทศสมาชิกอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ อาจใช้ร่างความตกลง TPP เดิม เพื่อเดินหน้าการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกันต่อไป แต่เมื่อพิจารณาถึงการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก 11 ประเทศ โดยที่ไม่มีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและเป็นตลาดผู้บริโภคขั้นสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดเข้าร่วมด้วย พบว่า มีแรงจูงใจในการรวมกลุ่มน้อยมาก เนื่องจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศสมาชิกจะได้รับลดน้อยลงไปจนแทบไม่มีนัยสำคัญ อีกทั้งบางประเทศเหล่านี้ก็มีข้อตกลงการค้าเสรีทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคีระหว่างกันอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิกยังคงมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ ทั้งในมิติเชิงเศรษฐกิจและมิติเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะตอกย้ำความพยายามของสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิกให้ยังคงอยู่ และคงจะกลับมาเป็นประเด็นอีกในระยะปานกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) อันประกอบไปด้วยอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย เริ่มเห็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมผลกระทบของ TPP ที่มีต่อเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของไทยอาจไม่มีนัยสำคัญนัก ไม่ว่าไทยจะเข้าร่วม TPP หรือไม่ก็ตาม หากว่าโครงสร้างการผลิตและการส่งออกแบบของไทยยังเป็นแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่ตอบโจทย์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคและตลาดส่งออกปลายทาง รวมถึงปัญหาความสามารถทางการแข่งขันที่เสื่อมถอยลงที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาถึงผลกระทบทางสังคมที่ภาระส่วนใหญ่จะตกอยู่กับภาคเกษตรและกลุ่มประชากรที่อ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ

กล่าวคือ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การเข้าร่วม TPP ของไทยคงเป็นแค่การช่วยซื้อเวลาให้ผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตและการส่งออกที่ภาคธุรกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ทอดยาวออกไปได้บ้าง ขณะที่ ผลกระทบทางสังคมอันเกิดจากเงื่อนไขตามความตกลง TPP ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรบางกลุ่มที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าเกษตรนำเข้าจากต่างประเทศ ประเด็นเรื่องสิทธิบัตรยาและภาระทางการคลัง รวมไปถึงข้อกังวลเรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ อาจทำให้ผลกระทบสุทธิของการเข้าร่วม TPP ของไทยกลับกลายมาอยู่ในแดนลบได้

แต่หากภาครัฐมีแนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและบริหารจัดการปัญหาเชิงสังคมได้อย่างตรงจุด เช่น มีการปฏิรูปทางการคลังและระบบประกันสุขภาพในประเทศ รวมถึงการเจรจากับบริษัทเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกในเรื่อง Pricing strategy ของเวชภัณฑ์ที่จำหน่ายในเมืองไทย การเยียวยาและหางานใหม่ให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าเกษตรนำเข้าราคาถูก และการมุ่งหน้าพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ท้องถิ่น ก็พอจะทำให้การเข้าร่วม TPP ก่อให้เกิดผลกระทบสุทธิที่เป็นบวกได้บ้าง

อย่างไรก็ดี นอกจากการเยียวยาและบริหารจัดการปัญหาทางสังคมแล้ว หากทั้งภาครัฐและเอกชนตื่นตัวและมีการปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างการผลิตของประเทศ กล่าวคือ การก้าวเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีที่สูงขึ้น การเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันผ่านทักษะแรงงานและโครงสร้างพื้นฐาน และการเฟ้นหาสินค้าส่งออกหลักตัวใหม่ (Product champions) ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เมื่อผนวกกับประโยชน์จากการเข้าร่วมกลุ่ม TPP อันจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยสามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ได้โดยสะดวก ก็จะยิ่งช่วยย้ำสถานะของไทยในการเป็นจุดหมายการลงทุนดาวเด่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยให้มีการขยายตัวในระดับที่สูงขึ้นต่อไปในระยะยาว

"ในมิติของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ จะเห็นได้ว่าไทยอยู่บนทางแยกที่สำคัญอันจะเป็นตัวกำหนดเส้นทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ การปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขันดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นทางเลือกเชิงนโยบายที่จะนำประเทศไปสู่ทางรอดเชิงเศรษฐกิจในอนาคต ไม่ว่า TPP จะเกิดขึ้นหรือไม่ในระยะเวลาอันใกล้ และไทยจะเข้าร่วมกลุ่ม TPP หรือไม่ก็ตาม" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า จากการพิจารณาแนวนโยบายหลักของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยของทางการ สะท้อนถึงความพยายามของภาครัฐในการผลักดันและบูรณาการภาคการผลิตของประเทศให้ไปในทิศทางทางดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์ในการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น การผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่เชื่อมต่อและต่อยอดกับภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงภายในภูมิภาค รวมไปถึงการปรับโครงสร้างนโยบายการศึกษาและการจัดการแรงงานของประเทศ

ขณะเดียวกัน ในฝั่งภาคเอกชนนั้นด้วยความแตกต่างและหลากหลายของผู้ประกอบการในประเทศ ทำให้ความพร้อมในการปรับตัวของผู้ประกอบการแต่ละรายและแต่ละภาคเศรษฐกิจมีความแตกต่างกัน ดังนั้นภาครัฐต้องบริหารจัดการในการเคลื่อนทุกภาคส่วนของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน เพื่อยกระดับมาตรฐานของภาคการผลิตไทยไปสู่มาตรฐานโลก อันถือเป็นการสร้างแต้มต่อทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคตเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของหลากหลายกรอบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็น TPP RCEP หรือแม้กระทั่งการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิค (Free Trade Area of the ASIA-Pacific หรือ FTP-AP)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ