นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.58 - พ.ค.59) กรมบัญชีกลางมีเงินรับเข้าเงินคงคลังผ่านระบบ GFMIS (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค.59) สูงถึง 2,686,031.66 ล้านบาท ซึ่งเดือนพฤษภาคม 2559 มีเงินสดรับ จำนวน 265,489 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 40,060 ล้านบาท คิดเป็น 17.77% แบ่งเป็น การนำส่งเงินของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจนำส่งกว่า 207,642 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากภาษี ส่วนใหญ่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 50,811 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.36% ของเงินรายได้นำส่งคลังทั้งหมด รองลงมาคือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล 30,439 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.40% และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 24,668 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.43% ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 12,994 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.44% ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี ได้แก่ การนำส่งเงินของรัฐวิสาหกิจ 27,714 ล้านบาท และการนำเงินนอกงบประมาณฝากคลัง 30,133 ล้านบาท
"กรมบัญชีกลางคาดว่าการจัดเก็บรายได้ของเดือนพฤษภาคม ได้รับผลมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ในเดือนนี้สูงกว่าปีก่อน" นายมนัส กล่าว
สำหรับผลการเบิกจ่ายเงินช่วง 8 เดือนแรกของงบประมาณประจำปี 2559 (ต.ค.58 – พ.ค.59) เบิกจ่ายงบประมาณภาพรวม 1,789,076 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,720,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 65.77% แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 1,563,811 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,175,646 ล้านบาท หรือคิดเป็น 71.88% ขณะที่รายจ่ายลงทุน (ไม่รวมงบกลาง) เบิกจ่ายแล้ว 224,554 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 457,096 ล้านบาท หรือคิดเป็น 49.13% โดยการเบิกจ่ายเงินประมาณของภาครัฐในภาพรวมเบิกจ่ายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากหน่วยงานราชการพยายามเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี เพื่อช่วยผลักดันให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ขณะที่ ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.งบประมาณจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ในภาพรวมเบิกจ่ายแล้ว 10,774 ล้านบาท ของวงเงินประมาณ 56,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.24% ซึ่งแบ่งเป็น รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 10,710 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26.12% และรายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายแล้ว 64 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.43% และผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี ของปีงบประมาณ 2549-2558 เบิกจ่ายได้แล้ว 184,043 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 307,851 ล้านบาท หรือคิดเป็น 59.78%
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานตามโครงการรัฐบาลที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท เบิกจ่ายได้แล้ว 28,958 ล้านบาท ของวงเงินรวม 36,462 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 79.42 และเริ่มทยอยเบิกจ่ายเงินอย่างต่อเนื่อง 2.มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ เบิกจ่ายได้แล้ว 33,321 ล้านบาท ของวงเงินรวม 37,907 ล้านบาท หรือคิดเป็น 87.90%
3.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน เบิกจ่ายได้แล้ว 45,013 ล้านบาท ของวงเงินรวม 60,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 75.02 ส่งผลให้เศรษฐกิจในระดับชุมชนขยายตัวเพิ่มขึ้น ผ่านการจ้างงานและการบริโภคของประชาชน 4.โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ เบิกจ่ายได้แล้ว 3 ล้านบาท ของวงเงินรวม 14,918 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.02 ซึ่งเป็นเงินที่เบิกไปพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทุกภูมิภาคของประเทศ และในส่วนของผลการเบิกจ่ายเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ (ที่ไม่ได้เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณ) เบิกจ่ายได้แล้ว 71,963 ล้านบาท ของวงเงินรวม 300,530 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.95
ทั้งนี้ ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ในส่วนของกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ภาพรวมเบิกจ่ายได้ 139,095.62 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 147,874.79 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 132,032.22 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 140,811.39 ล้านบาท หรือคิดเป็น 93.77% และรายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายแล้ว 7,063.40 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 7,063.40 ล้านบาท หรือคิดเป็น 100% ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ และนำไปพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐ
"ภาพรวมของรายได้ที่เข้าสู่เงินคงคลังผ่านระบบ GFMIS และผลการเบิกจ่ายเงินช่วง 8 เดือน ที่สามารถเบิกจ่ายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีเงินหมุนเวียนในระบบ ตามเป้าหมายนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคง แข็งแรง และยั่งยืน" นายมนัส กล่าว