นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามการเสนอของกระทรวงการคลังแล้ว
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ....จะนำมาบังคับใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508
ทั้งนี้ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่างกฎหมายที่เสนอนี้ไม่ใช่การเก็บภาษีใหม่ แต่เป็นการปรับปรุงการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น
รวมทั้งจะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการในเขตพื้นที่ของตน ก่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษี ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้เกิดการกระจาย การถือครองที่ดิน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินได้อีกทางหนึ่ง
"ภาษีใหม่จะแก้ปัญหาในการจัดเก็บภาษี เพราะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ไม่กระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้เสียประโยชน์ อีกทั้งช่วยขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น"นายอภิศักดิ์ กล่าว
ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญ กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ
สำหรับหน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยรายได้ภาษีที่จัดเก็บได้จะเป็นของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ทำหน้าที่จัดเก็บ
ส่วนทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด
ขณะที่ฐานภาษี ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคิดคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดตามราคาประเมินทุนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
ทั้งนี้ อัตราภาษีที่กำหนดไว้จะเป็นอัตราสูงสุดที่จะจัดเก็บจากผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจะจัดแบ่งอัตราภาษีดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดิน คือ
1.กรณีใช้เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกิน 0.2%
2.กรณีใช้เพื่อเป็นที่พักอาศัย ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกิน 0.5%
และ 3.กรณีใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกิน 2% สำหรับที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพที่ดินนั้น กำหนดอัตราภาษีสูงสุดในกฎหมายให้ อปท.เรียกเก็บภาษีสำหรับที่ดินดังกล่าวในอัตราไม่เกิน 5% ของฐานภาษี
ขณะเดียวกัน จะยกเว้นภาษีให้แก่ทรัพย์สินบางประเภท เช่น สาธารณสมบัติ ทรัพย์สินของรัฐที่ไม่ได้ใช้หาผลประโยชน์ ทรัพย์สินของสถานทูต ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด และที่ดินสาธารณูปโภคของโครงการจัดสรรที่มิได้ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทรัพย์สินของเอกชนที่ได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ และบ้านพักอาศัยหลักในส่วนที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เป็นต้น
อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.โดยกำหนดเป็นอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้นตามมูลค่าของฐานภาษี ดังนี้
1. เกษตรกรรม ตั้งแต่ 0 ถึง 0.1% ของฐานภาษี
2. ที่พักอาศัยหลัก ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่ 0.05 ถึง 0.1% และที่พักอาศัยหลังอื่น ตั้งแต่ 0.03 ถึง 0.3% ของฐานภาษี
3. ประเภทอื่นๆ ตั้งแต่ 0.3 ถึง 1.5% ของฐานภาษี
4. ที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดินจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี ตั้งแต่ 1 ถึง 3% ของฐานภาษี
ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการบรรเทาภาระให้กับเจ้าของบ้านพักอาศัยหลักที่ได้มาจากการรับมรดก ผู้ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินที่มีอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ และกิจการสาธารณะ ดังนี้
1. ในกรณีที่เจ้าของบ้านพักอาศัยหลักได้รับกรรมสิทธิ์บ้านหลังดังกล่าวมาจากการรับมรดกก่อนที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะมีการบรรเทาภาษีให้ โดยการลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 50% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย
2. ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีเป็นเวลา 1 ปี ให้กับที่ดินที่อยู่ระหว่างการปลูกสร้างบ้านที่เจ้าของใช้เป็นบ้านของตนเอง
3. ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05% ของฐานภาษี สำหรับที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อจัดทำเป็นโครงการที่พักอาศัยเพื่อขาย ที่นิติบุคคลที่ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์เป็นเจ้าของ เป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่เจ้าของที่ดินได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน
4. ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05% ของฐานภาษี สำหรับอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ของสถาบันการเงิน เป็นระยะเวลา 5 ปี
5. ให้ลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกิน 75% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย สำหรับกิจการสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล และโรงเรียน เป็นต้น
"กฎหมายยังให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่น สามารถขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อลดหรือยกเว้นภาษีให้กับเจ้าของอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ เช่น เกิดภัยพิบัติ หรืออาคาร บ้านเรือนเกิดเสียหายหรือถูกทำลาย" รมว.คลัง ระบุ
รมว.คลัง กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการกำหนดวิธีการจัดเก็บที่ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความโปร่งใส เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ โดยภาษีที่ดินฯ จะช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มจากปีละ 3 หมื่นล้านบาท เป็น 6.4 หมื่นล้านบาท แต่รายได้ที่เกิดขึ้นจะกลับคืนสู่ท้องถิ่น
"จังหวัดที่เจริญก็มีรายได้จากมูลค่าของทรัพย์สิน ส่วนจังหวัดที่มีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ก็จะมีรายได้จากเจ้าของที่ดินที่ซื้อทิ้งไว้ ซึ่งรัฐต้องการให้ทำประโยชน์"นายอภิศักดิ์ กล่าว