ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดไทยเที่ยวไทยภาพรวมในปี 59 จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศจำนวน 146.5 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 6.5% จากปี 58 และอาจจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในไทยมูลค่า 8.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% ชะลอตัวจากปี 58 ที่ประเมินว่าขยายตัว 12.6%
แม้เม็ดเงินการใช้จ่ายของตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศจะมีมูลค่าน้อยกว่าตลาดต่างชาติเที่ยวไทย โดยรายได้ท่องเที่ยวจากตลาดไทยเที่ยวไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 35% ของรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมดจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ แต่ในช่วงที่ผ่านมาตลาดไทยเที่ยวไทยช่วยพยุงสถานการณ์ท่องเที่ยวของประเทศหลายครั้ง อีกทั้งยังนำพาความยั่งยืนมาสู่การท่องเที่ยวไทยและการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น เนื่องจากช่วยกระจายเม็ดเงินไปยังเมืองท่องเที่ยวรอง ทั้งนี้ นอกจากมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐจะช่วยกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 59 แล้ว การสานต่อแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ อย่างโครงการ 12 เมืองต้องห้ามพลาด PLUS ที่มีการทำการตลาดครอบคลุม 24 จังหวัด คาดว่าจะช่วยดึงดูดผู้คนและเม็ดเงินการใช้จ่ายกระจายไปยังหลากหลายพื้นที่
สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 59 ตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศเติบโตจากแรงหนุนสำคัญ คือ มาตรการภาครัฐไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการเฉพาะเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 59 และการขยายมาตรการนำค่าใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวภายในประเทศมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลตลอดทั้งปี 59
ในอีกด้านหนึ่ง จากวิกฤติภัยแล้งข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้ผู้คนมองหากิจกรรมคลายร้อน อย่างกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล/น้ำ อย่างธุรกิจสวนน้ำน่าจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 59 ตลาดสวนน้ำในไทยจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดมูลค่าประมาณ 3,100-3,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.0-13.0% จากปีที่แล้ว
นอกจากนี้ เมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่น่าจะได้รับอานิสงส์และมีความคึกคักตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์
จากการประเมินสถานการณ์คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในช่วงไตรมาสแรกของ ปี 59 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยในหลายพื้นที่เพิ่มขึ้น อาทิ จังหวัดชลบุรี (ทุกพื้นที่ เช่น บางแสน พัทยา) ที่ตลาดนักท่องเที่ยวชาวไทยเติบโตเป็นเลขสองหลัก และคาดว่าตลอดทั้งปี 59 จะขยายตัวที่ 7.6% ซึ่งสูงกว่าภาพรวมตลาดไทยเที่ยวไทยในปีนี้ (คาดว่าจะขยายตัวที่ 6.5%)
สำหรับบรรยากาศตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีหลายปัจจัยหนุนไม่ว่าจะเป็นเรื่องวันหยุดและการใช้สิทธิในช่วงโค้งสุดท้ายสำหรับการนำค่าใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษี โดยในช่วงโลว์ซีซั่น (ไตรมาส 3) บรรยากาศของแหล่งท่องเที่ยวไม่เอื้อต่อกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นภูเขาและทะเล (อย่างภาคเหนือ ภาคตะวันออก เป็นต้น) เพราะในช่วงฤดูฝนการเดินทางไม่สะดวก ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องถึงรายได้ของธุรกิจในพื้นที่ แต่ในเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม อย่างภูเก็ต กระบี่ น่าจะยังคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวคนไทย เนื่องจากคนไทยบางส่วนเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงนี้ ด้วยผู้ประกอบการอย่างธุรกิจโรงแรมและธุรกิจสายการบินมีการจัดโปรโมชั่นด้านราคาที่เข้มข้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งช่วยชดเชยช่วงโลว์ซีซั่นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติบางตลาด อย่างตลาดยุโรป เป็นต้น ขณะที่บรรยากาศในช่วงไฮซีซั่น (ไตรมาส 4) คาดว่า คนไทยจะยังมีแผนเดินทางท่องเที่ยว/พักผ่อนกับครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ตอนบนของประเทศ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี หนองคาย เป็นต้น โดยนอกจากจะเดินทางไปสัมผัสอากาศและชมไม้ดอกเมืองหนาวแล้ว ยังเป็นจังหวัดที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมาและสปป.ลาวได้ ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ยังได้รับความนิยมในหมู่ชาวไทยและชาวต่างชาติ
อย่างไรดี คงต้องติดตามปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจของไทย อย่างหนี้ภาคครัวเรือนที่อาจมีผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยบางกลุ่ม และจากคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาให้เฝ้าระวังปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คงต้องติดตามเรื่องปริมาณน้ำฝนในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม โดยอาจกระทบนักท่องเที่ยวในเรื่องการเดินทาง และกระทบการจัดการ, การเตรียมตัวของผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
"สถานการณ์ตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 59 จะขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงกว่าปีที่ผ่านมา ตามปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้า และสภาพอากาศที่กระทบแหล่งท่องเที่ยวในบางพื้นที่" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ