นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการปรับโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National e-Payment)นั้น เพื่อลดต้นทุนในการบริหารเงินสด รวมถึงการทราบพฤติกรรมของประชาชนทั้งหมด วิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำ รวมถึงการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะต้องเร่งสร้างระบบให้มีความพร้อม และรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้มากขึ้น ซึ่งอาจจะออกมาเป็นมาตรการ เช่น หากมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) 7% แต่หากใช้เงินสดในการใช้จ่ายจะต้องเสียภาษี 10% ซึ่งคาดว่าการดำเนินการปรับโครงสร้างการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ล้านบาท
“ถ้ามีบัตรเราเพิ่มความสะดวกแล้ว ให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแค่ 7% หากไม่ใช้ ยังใช้เงินสด แสดงว่าคนนั้นมันต้องมีปัญหาแล้ว เราต้องให้กรมสรรพากรไปตรวจสอบ นอกจากนี้ คนที่มีรายได้น้อย หรือ คนจนก็จะเข้าถึงบริการทางการเงินได้ด้วย โดยเรื่องสวัสดิการนั้น เราจะจ่ายผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด"นายสมชัย กล่าว
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เตรียมจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพื่อบังคับให้คนเข้ามาอยู่ในระบบมีการออมเงินมากขึ้น เพราะในอนาคตรัฐบาลจะต้องแบกรับภาระในกลุ่มคนดังกล่าวสูงถึง 600,000-700,000 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม นายสมชัย ระบุว่า แผนงานที่กระทรวงการคลังจะเร่งทำในระยะยาว คือ ตั้งเป้าภายในปี 75 ประชาชนทุกคนจะต้องมีรายได้ต่อเดือน 40,000 บาทต่อเดือน ขณะที่คนที่มีรายได้น้อยที่สุดจะต้องมีเงินได้ 15,000 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม และจะต้องให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยประเทศไทยจะต้องอยู่ใน 20 อันดับของประเทศที่ทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยที่สุด นอกจากนี้จะต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ต้องเพิ่มความรู้ของประชากรในประเทศทั้งด้านการเงินและคอมพิวเตอร์
"สิ่งที่กระทรวงการคลังจะเร่งดำเนินการหลังจากนี้จะเป็นเรื่องปรับโครงสร้างใหญ่ของประเทศไทย เพื่อให้มีความก้าวหน้าต่อไป โดยจะไม่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพิ่มเติมออกมาหากไม่มีความจำเป็น หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหนือความคาดหมาย เช่น แผ่นดินไหว วิกฤติโลกร้ายแรง ปัญหาภัยแล้งยาวนานกว่าปัจจุบัน ปัญหาที่จะมีผลต่อการทำลายเศรษฐกิจ"