(เพิ่มเติม) รัฐบาล เปิดแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นแรงส่งศก.ระลอกใหม่ แนะเอกชนต้องกล้าลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 8, 2016 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "อนาคตไทยกับทศวรรษใหม่แห่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน" ในงาน EIC Conference 2016 : จับตาการลงทุนภาครัฐ-เอกชน แรงส่งเศรษฐกิจระลอกใหม่ ว่า จะเริ่มเห็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงสู่ระบบมากขึ้น โดยคาดว่าภายในเดือนมิ.ย.นี้ จะสามารถเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย และจนถึงสิ้นปีจะมีเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐออกมามากขึ้น และพยายามกระตุ้นให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP เพื่อรัฐบาลจะได้มีเงินเหลือไปช่วยเกษตรกรที่ยังยากลำบาก ขณะเดียวกันคาดว่าในปีนี้จะมีเม็ดเงินจากการลงทุนโครงการด้านดิจิทัล 15,000 ล้านบาท จากวงเงินลงทุน 5 ปี รวม 500,000 ล้านบาท

ส่วนแผนระยะยาวใน 5 ปีนั้น ภาครัฐยังมีการลงทุนด้านพลังงาน 2.5 ล้านล้านบาท และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2.5 ล้านล้านบาท รวมการลงทุนของภาครัฐในระยะ 5 ปี รวมทั้งสิ้น 5.5 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของประเทศในระยะยาว

รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า สิ่งสำคัญที่รัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจังคือ การปฏิรูปประเทศในทุกด้าน เพราะรัฐบาลไม่ต้องการเห็นคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก และจะพยายามประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัว ลดความเหลื่อมล้ำ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการปฏิรูปสิ่งแรกที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การปฏิรูปด้านการเกษตร การเพิ่มมูลค่าสินค้า ชุมชนต้องเข้มแข็ง สินค้าชุมชน และท่องเที่ยวชุมชน

ส่วนการปฏิรูปด้านอุตสาหกรรมนั้น จะต้องเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยจะร่วมมือกับองค์กร หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัยผ่านกลุ่มอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ต่างๆ และเพิ่มงานวิจัยเพื่อสงเสริมให้เกิดนวัตกรรมและสินค้าใหม่ๆ ในประเทศ พยายามสร้างอุตสาหกรรมเก่าให้มีคอนเทนท์ใหม่ๆ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น อาหารแห่งอนาคต หุ่นยนต์แห่งอนาคต ด้านการบิน ปิโตรเคมีชั้นสูง โดยจะมีการนำโมเดลที่ญี่ปุ่น และเกาหลีมาใช้ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่มาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

นอกจากนี้ จะเดินหน้าการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เนื่องจากในปัจจุบันพบว่าประเทศไม่ได้พัฒนาได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีการปฏิรูปในเรื่องอื่นๆ ควบคู่กัน เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข แหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ คือ ตัวหล่อหลอมจิตใจ โดยสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการก่อนหน้า คือ การอัดฉีดเงินลงสู่ภาคชนบท 35,000 ล้านบาท เพื่อไปลงทุนในโครงการชุมชนที่มีความจำเป็น เช่น แหล่งน้ำ ยุ้งฉาง ฝาย เป็นต้น รวมถึงการดูแลในส่วนของเด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง เนื่องจากหัวใจของโลกที่มีการเมืองแข็งแรงได้ คือ มีภาคประชาสังคมที่แข็งแรง ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างระหว่างภาครัฐ ประชาชน และเอกชน จนทำให้เกิดทุนทางสังคม เกิดความเชื่อมั่นระหว่างกันในสังคม และมีความรับผิดชอบร่วมกัน

นายสมคิด มองว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับฟื้นตัว มีทิศทางเป็นบวก ดูจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสแรกที่ผ่านมาขยายตัวได้ 3.2% โดยมาจากการขับเคลื่อนการลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี และต่างชาติเริ่มกลับมาสนใจลงทุนเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ด้านการส่งออกนั้น ยังไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ทั้งจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ยังดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ จึงทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบ ประกอบกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางที่เป็นตลาดส่งออกหลัก ยังมีปัญหาในเรื่องของรายจ่ายมากกว่ารายรับ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยด้วย

ขณะที่จีนมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วจากการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรม ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ไทยจะต้องเร่งดำเนินการ คือ การเติบโตจากในประเทศ การเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

"เศรษฐกิจไทยยังไม่แรงพอ เพราะผู้ประกอบการยังชั่งใจ การลงทุนเอกชนยังไม่เข้มข้น เป็นหน้าที่เอกชนต้องกล้าลงทุน ถ้า Factor ทุกตัวขับเคลื่อน ผมเชื่อว่าดีขึ้น" นายสมคิด กล่าว

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวในหัวข้อ"โอกาสการลงทุนในทศวรรษแห่งโครงสร้างพื้นฐาน" ว่า รัฐบาลมีแผนการลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 20 โครงการ โดยได้ดำเนินการไปแล้ว 11 โครงการ มูลค่าที่มีการอนุมัติและประกวดราคา 4.6 แสนลบ ซึ่งในส่วนของครึ่งปีหลังจะมีการเดินหน้าโครงการอีก 8 โครงการ อาทิ ดครงการรถไฟทางคู่ ขนาดมาตรฐาน เส้นทางมาบกะเบา-จิระ, ลพบุรี- ปากน้ำโพ, นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบฯ โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หัวหิน กรุงเทพ-ระยอง คาดว่าจะสามารถเสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ได้ไม่เกินเดือนก.ค.นี้

รมว.คมนาคม กล่าวว่า โครงการลงทุนต่างๆ ยังเดินหน้าไปตามเป้า นอกจากนี้ รัฐบาลจะเน้นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะการพัฒนาในพื้นที่รอบข้างทาง เพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิ บริเวณสถานีปากช่อง ของโครงการกรุงเทพ-โคราช โดยจะนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการ PPP ด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนที่รัฐบาลใช้มาตรา 44 เพื่อลดขั้นตอน EIA ก็ส่งผลดีในการเดินหน้าในหลายโครงการ ซึ่งไม่ต้องรอกระบวนการ EIA แล้วเสร็จแต่สามารถดำเนินการเตรียมการประกวดราคาควบคู่ไปได้ ซึ่งมีหลายโครงการได้ประโยชน์ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ ลพบุรี-ปากน้ำโพ นครปฐม-หัวหิน โครงการไฮปีดเทรนกรุงเทพ-ระยอง กรุงเทพ-หัวหิน

"โครงการต่างๆที่จะเริ่มก่อสร้างปีนี้ ปีหน้า หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจะไม่ล้มเลิกโครงการเพราะมองว่าโครงการเหล่านี้มีประโยชน์ต่อประชาชน และหลายโครงการติดขัดมาเป็นเวลานาน 10-15 ปี เช่น โครงการมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทางที่เพิ่งผ่านครม.ไปเมื่อวานนี้" รมว.คมนาคม กล่าว

นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า การลงทุนภาครัฐจะเป็นแรงส่งที่สำคัญ จึงเป็นโอกาสและความท้าทายของทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงธนาคารในการผสาน ความร่วมมือเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอีกครั้ง

ด้านนางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส SCB EIC กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกปัจจุบันยังคงชะลอตัวจากวิกฤติการเงินโลกเมื่อ 8 ปีก่อนและยังไม่มีประเทศใดที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจเหมือนในอดีต การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในหลายประเทศ เช่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ภาระหนี้ที่สูง รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้ความต้องการในการใช้จ่ายและการลงทุนหดหายไป ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยโลกลดต่ำลงจนอยู่ในระดับเดียวกับยุค Great Depression ที่เศรษฐกิจโลกซึมเป็นเวลานานก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

ในสภาวการณ์เช่นนี้ SCB EIC มองว่าทางรอดเดียวสำหรับเศรษฐกิจไทยคือ การใช้มาตรการทางการคลัง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพการเติบโตในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การสร้างโครงสร้างพื้นฐานจะต้องสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่การพัฒนาธุรกิจภาคบริการมากขึ้น

ทั้งนี้ SCB EIC แนะว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวควรที่จะเข้าไปสนับสนุนธุรกิจภาคบริการที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง 3 ด้าน ได้แก่ 1. ธุรกิจท่องเที่ยว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทางภาครัฐได้มีการวางแผนขยายและก่อสร้างสนามบินเพิ่มเติมเพื่อรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี การลงทุนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในด้านอื่นๆ ก็ควรที่จะได้รับการสนับสนุนเช่นกัน อาทิ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค รวมถึงระบบการรักษาความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุให้แก่นักท่องเที่ยว และสำคัญที่สุดเพื่อให้ธุรกิจท่องเที่ยวเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ ควรเพิ่มการลงทุนเชิงสถาปัตยกรรมให้รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งจะมีสัดส่วนสูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย

2. ธุรกิจ ICT ปัจจุบันไทยมีการใช้งานด้านข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดผ่านสมาร์ทโฟนและอีคอมเมิร์ซ ประกอบกับระบบ National e-Payment และเทคโนโลยียุคใหม่ อย่าง Internet of Things (IoT) จะผลักดันให้ไทยเข้าสู่ “สังคมดิจิทัล" อย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดี โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ทั้งในด้านจำนวนคลื่นความถี่ ความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และกฎหมายด้านดิจิทัลของไทยกลับยังตามหลังประเทศคู่แข่งในอาเซียนอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์มาโดยตลอด ดังนั้น ไทยจึงควรเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวเพื่อให้ประเทศสามารถพัฒนาธุรกิจนี้ได้อย่างเต็มที่

3. ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเติบโตของ CLMV ขณะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวะชะลอตัว แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) กลับเติบโตอย่างสวนทางกัน สะท้อนจากมูลค่าการลงทุนและการค้าชายแดนที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ทั้งทางถนน ทางราง และทางอากาศเพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มประเทศดังกล่าวที่ทางภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจขนส่งสินค้าและการเดินทางข้ามแดน รวมถึงภาคธุรกิจบริการต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าส่งค้าปลีก ซึ่งหากภาครัฐสามารถวางแผนพัฒนาพื้นที่รายรอบโครงการเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจุดตัดระหว่างเส้นทางคมนาคมต่างๆ จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

“การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อภาคบริการจะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทยให้มีความพร้อม และก้าวเป็นผู้นำของธุรกิจบริการในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอีไอซีเชื่อมั่นว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี อนาคตของเศรษฐกิจไทยนั้นขึ้นอยู่กับการทำงานร่วมกันอย่างเข้าใจของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเราในครั้งนี้เป็นกระสุนที่มีอานุภาพสูง ช่วยให้เศรษฐกิจไทยก้าวข้ามอุปสรรค ไปสู่อนาคตที่แข็งแกร่งกว่าปัจจุบันได้" นางสาวสุทธาภา กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ