นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ท้องถิ่นก้าวไกล เศรษฐกิจไทยก้าวหน้า" ในงานสัมมนาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า รัฐบาลได้มอบให้บีโอไอจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่นขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระดับชุมชนท้องถิ่น เพราะหากเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้รับการยกระดับให้ดีขึ้น เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมจะดีขึ้นด้วยเช่นกัน รวมถึงประชาชนในประเทศจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันความเหลื่อมล้ำในสังคมจะลดน้อยลง
โดยมีแนวทางส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นในลักษณะการพึ่งตนเอง ภายใต้หลักการสร้างความเข้มแข็งจากภายในตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เริ่มตั้งแต่การส่งเสริมให้เกิดโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำหรือผลผลิตล้นตลาด ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างรายได้ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร การส่งเสริมให้มีศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกษตรกร โรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น รวมทั้งผู้ผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) และผลิตภัณฑ์ชุมชน มีช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ผลิตท้องถิ่นโดยตรง
นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างจุดขายใหม่ ๆ ด้านการท่องเที่ยว หรือปรับปรุงสภาพของแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมให้มีคุณภาพสูงขึ้น มีสภาพแวดล้อมที่น่าดึงดูดการท่องเที่ยว มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยได้มาตรฐาน เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาเยี่ยมชมกันมากขึ้น ซึ่งจะสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ และสู่ท้องถิ่นในท้ายที่สุด
"ผมเคยพูดไว้ว่า ต่อไปจะเห็นนโยบายการคลังหรือนโยบายส่งเสริมการลงทุนในท้องถิ่นมากขึ้น และรัฐบาลจะมีมาตรการที่จะสร้างการเติบโตจากฐานราก ซึ่งเกิดขึ้นจริงแล้วในวันนี้ โดยมั่นใจว่าตามมาตรการของบีโอไอครั้งนี้ ชุมชนทั่วประเทศจะได้รับประโยชน์ ทั้งกรณีการลงทุนโดยสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นเอง หรือกรณีบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพทั้งในด้านเทคโนโลยี และแหล่งเงินทุน จะเข้ามาร่วมมือกับท้องถิ่นในการยกระดับการผลิตให้มีมาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น" นายสมคิด กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่นให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่มีกำลัง มีเงินทุน มีมันสมอง รวมถึงแรงสนับสนุนจากประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งนี้ในส่วนของภาครัฐนอกจากผลักดันให้เกิดมาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่นในครั้งนี้แล้ว ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในหลายด้าน อาทิ การหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบของเงินจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง, โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SMEs เกษตร ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และมาตรการทางการเงินของธนาคารออมสิน รวมถึงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยกระทรวงการคลัง เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกิจการที่ทำประโยชน์ให้แก่คนในชุมชน
ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า งานสัมมนาในวันนี้เป็นการชี้แจงรายละเอียดของมาตรการที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่นทั่วประเทศ และเปิดโอกาสให้ได้มีการซักถามเพื่อตอบข้อสงสัย อันจะนำไปสู่ความรู้ ความเข้าใจในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการดังกล่าว ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริหารทั้งจากหน่วยงานภาครัฐส่วนกลางและท้องถิ่นทั่วประเทศ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานครั้งนี้กว่า 1,000 คน
พร้อมกันนี้บีโอไอยังได้ใช้โอกาสภายในงานสัมมนาจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่าง 7 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการลงทุนท้องถิ่นแบบบูรณาการครอบคลุมทุกด้าน ประกอบด้วย บีโอไอ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศ
"ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะยิ่งช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยบีโอไอเชื่อมั่นว่าผลของมาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่นที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบประชารัฐตามที่รัฐบาลได้มุ่งหวังไว้" นางหิรัญญา กล่าว