(เพิ่มเติม) กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK คนใหม่ชูนโยบายทำงานร่วมพันธมิตร-สนับสนุนผู้ส่งออกไทย พร้อมเดินหน้าปทท.สู่ 4.0

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2016 13:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK กำลังเร่งพัฒนาบริการเบ็ดเสร็จเพื่อผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย (SMEs) โดยใช้สินเชื่อควบคู่กับประกันการส่งออกและลงทุนเป็นเครื่องมือขยายธุรกิจและบุกตลาดของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการค้าการลงทุนของไทยใน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และประเทศตลาดใหม่ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล พร้อมทั้งขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อให้เกิดช่องทางใหม่ๆ ที่จะให้แพ็กเกจบริการทางการเงินของ EXIM BANK เข้าถึงผู้ประกอบการไทยที่ต้องการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและขยายตลาดในโลกการค้ายุคใหม่ได้อย่างยั่งยืน แข่งขันได้ด้วยคุณภาพและเอกลักษณ์ของแบรนด์ไทย รวมถึงการทยอยเปิดสำนักงานตัวแทนใน CLMV โดยคาดว่าจะสามารถเปิดที่เมียนมาได้เป็นแห่งแรกภายในปีนี้

"คาดว่าภายในปีนี้เราจะเปิดสาขาของ Exim Bank ได้ 1 สาขา ที่ประเทศเมียนมา ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเปิดเพิ่มในอีก 2 ประเทศ" นายพิศิษฐ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในทิศทางไม่สดใส เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกหลายแห่งยังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจภายใน ขณะที่จีนซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกชะลอความร้อนแรงลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยซบเซาอย่างต่อเนื่องไปด้วย ประกอบกับภาคการส่งออกที่เคยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังหดตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556-2558 โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมัน ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงมาก แต่ปัญหาหลักของภาคการส่งออกของไทยคือ โครงสร้างการผลิตสินค้าส่งออกของไทยยังไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดระดับบน ขณะที่การแข่งขันด้านราคาในตลาดล่างก็สู้ไม่ได้ ทางออกของประเทศไทยคือ การปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (Valued Based Economy) หรือประเทศไทย 4.0 และ EXIM BANK พร้อมจะเข้าไปมีบทบาทสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจดังกล่าว

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า EXIM BANK มุ่งเน้นการสร้างกลุ่มผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจที่แข็งแรง โดยเฉพาะ SMEs ดังนี้ 1. Smart Start Up หรือผู้เริ่มต้นทำธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ เพื่อการเติบโตทางการตลาดอย่างก้าวกระโดด 2. Advanced S หรือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มีศักยภาพสูง มียอดขายและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ 3. Amazing M หรือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางที่เข้มแข็ง 4. ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก กลาง และใหญ่ที่ต้องการการสนับสนุนจาก EXIM BANK เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพแต่ยังแข่งขันในตลาดระดับบนไม่ได้ EXIM BANK พร้อมจะให้การสนับสนุนเงินทุนเพื่อปรับโครงสร้างการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ย้ายฐานการลงทุนไปยังต่างประเทศ รวมทั้งรับประกันความเสี่ยงทางการค้าและการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศด้วย

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า บทบาทใหม่ของ EXIM BANK คือ การทำหน้าที่เป็นทีมสนับสนุนการขยายการค้าการลงทุนของไทยในตลาดโลก ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินและพันธมิตรของเราเป็นแนวร่วมนำพาประเทศไทยขยายธุรกิจการค้าการลงทุนเข้าไปในประเทศยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยใช้จุดแข็งของบริการที่แตกต่างจากสถาบันการเงิน ได้แก่ บริการประกันการส่งออกและลงทุน ควบคู่กับแพ็กเกจการเงินที่ตอบสนองความต้องการของ SMEs ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อช่วยให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศขยายตัวได้แม้ในปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว และขยายตัวได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในโลกการค้ายุคใหม่

"โลกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด เราต้องก้าวตามให้ทันและทำงานอย่างเกื้อกูลกัน EXIM BANK จะไม่แข่งขันกับธนาคารอื่นๆ แต่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เราพร้อมรับความเสี่ยงและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเติมเต็มช่องว่างทางการเงินในระบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยก้าวข้ามอุปสรรคทางการค้าในโลกยุคใหม่ได้ ขยายธุรกิจได้อย่างไร้พรมแดน และประสบความสำเร็จในระยะยาว" นายพิศิษฐ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า การดำเนินงานของ EXIM BANK จากนี้จะไปไม่มุ่งเน้นการแสวงหากำไรเป็นหลัก จึงมีแนวโน้มว่าการคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการจะถูกลง ขณะเดียวกันจะเน้นการเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้ได้จำนวนรายที่มากขึ้น และได้ผลจริงในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการของไทยที่จะเข้าไปขยายกิจการในต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศ New Frontier เช่น รัสเซีย อิหร่าน ศรีลังกา บังกลาเทศ และแอฟริกาใต้ เนื่องจากเห็นว่าตลาดในประเทศเริ่มจะเล็กไปแล้ว ซึ่งระหว่างนี้คณะทำงานกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ข้อดี ข้อเสียของแต่ละประเทศ ตลอดจนความเสี่ยงในด้านต่างๆ เช่น ความเสี่ยงทางการเมือง, การถูกคว่ำบาตร, การกีดกันทางการค้า, การถูกขึ้นบัญชี Watch List ฯลฯ

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ในปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายการให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอีก 10% และเพิ่มขึ้นอีก 15% ในปี 2560 ของจำนวนผู้ส่งออกทั้งหมดทั่วประเทศราว 37,000 ราย โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นให้ได้ถึง 20%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 3-4% นั้น ก็มั่นใจว่าจะยอดการปล่อยสินเชื่อจะเติบโตมากขึ้น แต่หากการเติบโตไม่เป็นไปตามคาด ก็จะมีการปรับกลยุทธ์ใหม่ในการรับประกันการส่งออกให้แก่ผู้ประกอบการ พร้อมกับเชื่อว่ายอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีแนวโน้มจะลดลง ซึ่ง EXIM BANK จะเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ