นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ คาดว่า จะสามารถเสนอกฎหมายตอบโต้การหลีกเลี่ยงการทุ่มตลาดหรือที่เรียกว่า Anti-Circumvention ได้ภายในปี 2559 โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการร่างกฎหมายซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมากและต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้มีประสิทธิภาพและสามารถป้องกันการหลีกเลี่ยงการ ตอบโต้การทุ่มตลาดได้ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้กำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 10 กรณี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเหล็ก เช่น เหล็กรีดร้อน เหล็กรีดเย็น เหล็กกล้าไร้สนิม ฯลฯ โดยประเทศที่ส่งสินค้าทุ่มตลาดเข้ามายังประเทศไทยสูงสุดคือ จีน แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเหล็กในโลกอยู่ในภาวะขาดความสมดุลย์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศต่าง ๆ แข่งขันกันอย่างรุนแรงเพื่อความอยู่รอด ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กของไทยได้รับผลกระทบมากที่สุด และได้มีการยื่นคำร้องให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากต่างประเทศมาตลอดตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การดำเนินการไต่สวนการทุ่มตลาดอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 กำหนดให้เจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศจะต้องดำเนินการไต่สวนตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยมีหลักการที่สำคัญ 3 ประการคือ ต้องมีหลักฐานการทุ่มตลาด ต้องแสดงข้อมูลความเสียหายของอุตสาหกรรมภายใน และพบว่าความเสียหายของอุตสาหกรรมภายในมีความสัมพันธ์กับการทุ่มตลาด ดังนั้นการดำเนินการไต่สวนต้องดำเนินการอย่างรอบคอบบนข้อมูลที่เชื่อถือได้ กรมการค้าต่างประเทศจะต้องส่งแบบสอบถามให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เช่น ผู้ส่งออก ผู้ผลิตอุตสาหกรรมภายใน และผู้นำเข้า จากนั้นนำไปตรวจสอบและทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการคำนวนอัตราส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดได้ ดังนั้นอุตสาหกรรมภายในควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการกำหนดอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดไม่สามารถกำหนดได้ตามอำเภอใจ แต่ต้องอยู่บนข้อมูลที่ได้รับจากทุกฝ่ายอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายเท่านั้น
"กระบวนการไต่สวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจะเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะต้องรับฟังความคิดเห็น ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน กฎหมายจึงกำหนดระยะเวลาการไต่สวนให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี โดยในแต่ละขั้นตอนของการไต่สวน กรมการค้าต่างประเทศจะต้องจัดการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และจะต้องนำเสนอผลการไต่สวนให้คณะกรรมการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาการต่าง ๆ พิจารณา วินิจฉัย โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศในภาพรวม ก่อนกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดทุกครั้ง กรมการค้าต่างประเทศไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะกำหนดอากรตอบโต้การทุ่มตลาดแต่อย่างใด" นางดวงพร กล่าว
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล็กไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดมากที่สุด ทั้งนี้ขอให้เข้าใจว่าการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ใช้ที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องและประโยชน์สาธารณะที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการดังกล่าวด้วย การกำหนดมาตรการจึงต้องพิจารณาอย่างโปร่งใส เที่ยงธรรม และอยู่ในกรอบของกฎหมาย
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศใ กล่าวว่า มาตรการของรัฐเป็นเพียงการเยียวยาความเสียหายจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมเท่าที่มีข้อมูลหลักฐาน มิใช่กลไกที่จะมีผลถาวร อุตสาหกรรมเหล็กจำเป็นต้องรวมตัวร่วมแรงร่วมใจกันตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิตและการบริการ อุตสาหกรรมเหล็กรายใหญ่ควรดูแลอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
"อย่าฉวยโอกาสที่รัฐบาลกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดแล้วขึ้นราคาสูงขึ้นหรือทอดทิ้งลูกค้า SMEs หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพราะหากใช้มาตรการจนลูกค้าภายในอยู่ไม่ได้ อุตสาหกรรมเหล็กไทยก็ไม่สามารถยืนอยู่ได้เช่นกัน ดังนั้นการที่มีสื่อบางรายและอุตสาหกรรมเหล็กบางกลุ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของการดำเนินมาตรการของรัฐนั้น ขอเรียนว่า กรมการค้าต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายครบถ้วน และมีนโยบายในเรื่อง Zero Corruption ชัดเจน หากมีข้อมูลหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่คนใดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็ขอให้นำมาแจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์โดยตรง ไม่ควรใช้โอกาสของการเป็นสื่อสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนโดยไม่เกิดประโยชน์อันใด" นางดวงพร กล่าว