นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารแนะนำให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าขายกับทางยุโรปและอังกฤษควรจะต้องทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากธนาคารประเมินว่าขณะนี้ค่าเงินมีความผันผวนจากปัจจัยการทำประชามติการออกจากเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 23 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ แต่มองว่าเป็นความเสี่ยงระยะสั้น เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีการติดต่อค้าขายกับอังกฤษมากเท่ากับจีนและสหรัฐฯ แต่เรื่องดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อค่าเงินบาทมากกว่า โดยสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ธนาคารคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ และในช่วงสิ้นไตรมาส 3/59 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์ช่วงสิ้นไตรมาส 4/59
ส่วนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14-15 มิ.ย. 59 ธนาคารประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ก่อนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในเดือนกรกฎาคมและธันวาคมนี้ ซึ่งช่วงนี้ยังมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในเอเซียและไทยอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรของธนาคาแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มขึ้นกว่า 4 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่ราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารคาดว่า 2 สัปดาห์จากนี้กระแสเงินทุนดังกล่าวจะไหลออกไปบางส่วน ซึ่งเกิดจากการขายทำกำไรและลดความเสี่ยง ในช่วงรอลุ้นผลการทำประชามติของสหราชอาณาจักร
สำหรับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ธนาคารยังคงประมาณการณ์เดิมที่มองไว้ที่เติบโต 3% โดยได้รับปัจจัยบวกจากการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยว ที่ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยลบที่ยังต้องติดตาม คือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีน เนื่องจากเป็นประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าไปจีนมากที่สุด