นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) มี โครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 504 โครงการ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่มีมูลค่า 2.29 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และเป็นการขอที่ตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 10 กลุ่ม มีมูลค่า 91,870 ล้านบาท และตั้งเป้าที่วางไว้ครึ่งปีแรก 1 แสนล้านบาท ดังนั้นมั่นใจว่า ยอดคำขอส่งเสริมลงทุนในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย 4.5 แสนล้านบาท
ด้านผลทางเศรษฐกิจจะมีเม็ดเงินการลงทุนจริงในช่วง 3 เดือนแรก มีมูลค่า 1.07 แสนล้านบาท ซึ่งประเมินแล้วน่าจะต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ 6 แสนล้านบาท และแหล่งเงินลงทุนที่สำคัญยังมาจากญี่ปุ่นและจีนเป็นหลัก
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบในหลักการให้มีการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเน้นในกลุ่ม CLMV และกำหนดในงบประมาณปี 2560 จะมีการเปิดสำนักงานที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา และที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกตั้งสำนักงานที่เมืองโฮจิมินห์หรือฮานอย ส่วนปีงบประมาณ 2561 จะมีการเปิดสำนักงานที่เมืองจาการ์ตาร์ ประเทศอินโดนิเซีย
สำหรับความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเรื่องทุนมนุษย์ นอกเหนือจากการกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบในหลักการกับแนวคิดที่มีการยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับบุคคลธรรมดา แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ที่ได้รับการยกเว้นต้องเป็นนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญระดับโลก