สศก.เร่งเพิ่มศักยภาพด่านสินค้าเกษตร 5 จังหวัดชายแดน รองรับการเข้าสู่ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 16, 2016 10:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามโครงการเพิ่มศักยภาพด่านสินค้าเกษตรชายแดนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจากการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อติดตามประเมินผลโครงการ รวม 5 จังหวัด ได้แก่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว, อ.เชียงแสน และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย, อ.เมือง จ.มุกดาหาร, อ.เมือง จ.หนองคาย และ อ.แม่สอด จ.ตาก ระหว่างเดือนเม.ย.-พ.ค.59 พบว่าการดำเนินงานของด่านตรวจสอบการส่งออกนำเข้า ณ จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่อนปรน ด่านประเพณี และจุดตรวจตามเส้นทางคมนาคม มีลักษณะแบบบูรณาการร่วมกันทั้งระหว่างด่านด้วยกันเอง และระหว่างด่านกับหน่วยงานภายนอก/หน่วยงานความมั่นคง เช่น ด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง กองกำลังบูรพา หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) และตำรวจตระเวนชายแดน

โดยหากจุดใดไม่มีเจ้าหน้าที่ด่านใดด่านหนึ่งอยู่ประจำ เจ้าหน้าด่านอื่นหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานภายนอก/หน่วยงานความมั่นคงที่อยู่ประจำจุดนั้น จะช่วยดูแลและแจ้งเจ้าหน้าด่านที่รับผิดชอบเมื่อมีสินค้าส่งออกนำเข้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ด่านตรวจพืชแม่สอดรับผิดชอบดูแลพื้นที่ อ.แม่สอด (จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย - พม่า คลังสินค้าอนุมัติชั่วคราวบริเวณริมแม่น้ำเมย 20 คลัง และจุดตรวจร่วมบ้านห้วยหินฝน) อ.ท่าสองยาง (ด่านด้านหลังโรงพัก) อ.แม่ระมาด (ด่านวังแก้ววังยา) อ.พบพระ (ด่านวาเล่ย์) อ.อุ้มผาง (ด่านเปิง เคลิ่ง) อ.เมืองพิษณุโลก (สนามบินพิษณุโลก) อ.สวรรคโลก (สนามบินสุโขทัย) อ.เมืองแม่ฮ่องสอน (จุดผ่อนปรนบ้านน้ำเพียงดินและจุดผ่อนปรนบ้านห้วยผึ้ง) อ.แม่สะเรียง (จุดผ่อนปรนบ้านเสาหิน) อ.ขุนยวม (จุดผ่อนปรนห้วยต้นนุ่น) และ อ.สบเมย (จุดผ่อนปรนบ้านแม่สามแลบ)

ด้าน น.ส.จริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ผลจากการบูรณาการในการดำเนินงานจากการติดตามพบว่า ผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า และผู้ให้บริการขนส่ง (Shipping) พึงพอใจมากต่อการให้บริการขออนุญาตส่งออกนำเข้า และตรวจปล่อยสินค้าของด่าน เนื่องจากมีการให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุด และมีการให้บริการนอกสถานที่ อาทิ ด้านปศุสัตว์ การไปตรวจสุขภาพโค กระบือ ฉีดวัคซีน ติดเบอร์หู และตีตราที่คอกกักของผู้ประกอบการมีการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ E-movement ของด่านกักกันสัตว์ Fisheries Single Window (FSW) ของด่านตรวจสัตว์น้ำ และ National Single Windows (NSW) ของด่านตรวจพืช มีความสะดวกรวดเร็ว ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางไปที่ด่านเพื่อรอขอใบอนุญาต

อีกทั้งยังเห็นว่าเจ้าหน้าที่มีความเป็นกันเอง ชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ กับผู้ประกอบการ เช่น การให้ข้อมูลการส่งออกนำเข้าสินค้าชนิดใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการไม่เคยทำมาก่อน (ปลิงทะเล และส้มเขียวหวาน) การสอนใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ การชี้แจงทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงระบบการขออนุญาตจากเอกสารเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ด่านเพื่อขอความช่วยเหลือและคำแนะนำแก้ไขปัญหาได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการให้บริการของด่าน และส่งเสริมการส่งออกนำเข้าสินค้าเกษตรในระยะต่อไปควรมีจุด One Stop Services (OSS) หรือ One roof ภายในพื้นที่ด่านพรหมแดน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอใช้บริการด่านทั้ง 3 ด่านได้ภายในจุดเดียวกัน และพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ของแต่ละด่านให้มีลักษณะเดียวกัน รวมทั้งเพิ่มเติมความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบการส่งออกนำเข้าของประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งออกนำเข้าสินค้าเกษตรที่สอดคล้องกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างกัน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพด่านสินค้าเกษตรชายแดน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ระหว่างปีงบประมาณ 2557 - 2560 มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ เพื่อบูรณาการพัฒนาด่านสินค้าเกษตรชายแดนให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล มีศักยภาพตรวจสอบสินค้าเกษตรที่ส่งออกและนำเข้าประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ