"เวลท์ แคปปิตอลฯ"จับมือ MBTEC เล็งสร้างโรงไฟฟ้าขยะ 2-10 MW หวังนำระดมทุนในตลาดหุ้นในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 16, 2016 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวปุณชรัศมิ์ นิธิกุลธนะวัชร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวลท์ แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า วันนี้บริษัทได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท เอ็ม.บี.ที.เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนซัลแทนท์ จำกัด (MBTEC) เพื่อร่วมลงทุนการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดมลพิษจากการฝังกลบขยะที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่มองโอกาสการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯในอนาคต

"เวลท์ แคปปิตอลฯ มีพันธกิจในการบริหารจัดการขยะชุมชน เพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อลดมลพิษจากการฝังกลบขยะชุมชน และลดมลพิษที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม เรามุ่งมั่นที่จะสร้างรายได้ให้แก่ผู้ร่วมทุนจากโครงการผลิตกระแสไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) มากกว่า 30% นอกจากนั้นเราจะพัฒนาบริษัทให้เป็นบริษัทมหาชน และจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งในและต่างประเทศที่มีศักยภาพ"นางสาวปุณชรัศมิ์ กล่าว

ทั้งนี้ เวลท์ แคปปิตอลฯ จะพิจารณาลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะชุมชนที่ได้รับสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ เช่น เทศบาล ,องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ,องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเสนอขายไฟฟ้าให้ภาครัฐ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ด้วยขนาด 2-10 เมกะวัตต์ (MW) และจะลงทุนอย่างต่อเนื่องตามพื้นที่ที่มีศักยภาพ และได้รับสัญญาหรือสัมปทานจากภาครัฐ ซึ่งระยะแรกจะระดมทุนจากนักลงทุนที่สนใจ และเชื่อมั่นในการประกอบการของบริษัท แต่ในระยะต่อไปจะระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับรูปแบบโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีเครื่องผลิตไฟฟ้าจากยุโรป การลำเลียงและคัดแยกขยะจากจีน และน้ำหมักชีวภาพจากไทย ซึ่งได้รับการทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง ขยะชุมชนจะถูกย่อย คัดเลือก ด้วยเครื่องจักรพิเศษจากจีน โดยทีขยะเปียกจะถูกนำไปหมักด้วยเทคโนโลยี Biomethanation ในบ่อหมัก ซึ่งจะได้ก๊าซมีเทน และน้ำหมักชีวภาพ (ปุ๋ยน้ำ) จากนั้นขยะที่เหลือจะถูกบีบอัด ทำให้แห้ง และนำเข้าเตาเผาเป็นเชื้อเพลิงต่อไป โดยจะมีรายได้ค่ากำจัดขยะประมาณ 350 บาท/ตัน จากปริมาณทั้งหมด 500 ตัน/วัน คิดเป็นรายได้ 175,000 บาท/วัน หรือเดือนละ 5.25 ล้านบาท

"บริษัทมีความพร้อมในการดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในประเทศ และ AEC ซึ่งมีปัญหาเรื่องขยะชุมชนในเมืองในทุกพื้นที่ เนื่องจากเรามีเทคโนโลยีที่สามารถกำจัดขยะชุมชนที่ไม่ได้คัดแยกได้ ซึ่งเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ได้รับการทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นของเสียที่เหลือยังน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ไม่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เทคโนโลยี และวิธีการดำเนินงานจึงมีความคุ้มค่าตอ่การลงทุนเชิงธุรกิจ"นางสาวปุณชรัศมิ์ กล่าว

ด้านนายปัญญวัฒน์ อุทัยพัฒน์ ประธานบริษัท MBTEC กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจกำจัดขยะแบบบูรณาการ ด้วยวิธีการหมักแบบไร้อากาศ (Anaerobic Digestion) ผสมผสานกับเทคโนโลยีของบริษัท ที่ได้มีการค้นคว้าและทดลองมานานกว่า 20 ปี โดยผลของกระบวนการสามารถเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า พร้อมทั้งได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีก ได้แก วัสดุรีไซเคิล น้ำหมักชีวภาพ วัสดุปรับปรุงดิน และกากอินทรีย์ที่เหลือจากการหมัก ซึ่งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Gasification ได้

การผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนจะช่วยรักษาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้พลังงานทดแทน ได้แก่ กระแสไฟฟ้า ก๊าซมีเทน นอกจากนั้นยังได้น้ำปุ๋ยสำหรับเกษตรกร สามารถทดแทนปุ๋ยเคมี และหากสามารถนำขยะชุมชน ซึ่งมีปริมาณรวมทั้งสิ้น ราว 26 ล้านตัน/ปี มาผลิตไฟฟ้าทั้งหมดจะได้มากกว่า 600 เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ