Brexit: ส.อ.ท.ลุ้นผลประชามติอังกฤษ หากออกจาก EU ทำการค้าการเงินผันผวน แนะจับตาอุตฯ อิเลคฯ-สิ่งทอ-ท่องเที่ยว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 17, 2016 14:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ด้านงานเศรษฐกิจ เปิดเผยถึงเรื่องการลงประชามติของอังกฤษเกี่ยวกับการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เรื่องนี้แวดวงการเงินและภาคธุรกิจให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความเป็นไปได้ทั้งออกและไม่ออก

การวิเคราะห์เป็นไปได้ทั้ง 2 ด้าน ด้านที่ 1 ถ้าผลการลงประชามติออกมาว่าไม่ออก ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยน ทุกอย่างยังเป็นไปตามปกติ แล้วก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละประเทศ ตลาดโลกก็จะไปรอดูสหรัฐว่าจะตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ย

"ถ้าไม่ออกก็ไม่มีปัญหาอะไร ทุกอย่างเหมือนเดิม เศรษฐกิจโลกก็ยังเป็นไปตามปกติ แล้วก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยของยุโรป และปัจจัยของแต่ละประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ถือเป็นสถานการณ์ปกติอยู่แล้ว" นายวัลลภ กล่าว

แต่ถ้าผลการลงประชามติให้ ออก ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ จะมีปัญหาเรื่องความผันผวนด้านการลงทุนและการเงิน จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปถดถอยลงด้วย เนื่องจากอังกฤษเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก และทั้งอังกฤษและสหภาพยุโรปผูกพันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมาตลอด

"ถ้าออกเรื่องใหญ่...เกิดความผันผวนทางการเงินแน่นอนและออกไปแล้วอาจจะต้องใช้เวลาเจรจาการค้า การค้าเสรีอีกประมาณ 2 ปี แต่สิ่งที่จะเห็นในระยะสั้นนี้คือความผันผวนด้านการค้าและการเงิน เงินทุนจะไหลออกจากอังกฤษและยุโรปที่ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ จะทำให้เกิดความผันผวนทางการเงินค่อนข้างมาก"นายวัลลภ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ด้านผลกระทบต่อประเทศไทย รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า อาจจะกระทบบ้างในบางกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปคิดเป็นประมาณ 10% ของการส่งออกโดยรวมของไทย และใน 10% นี้เป็นการส่งออกไปอังกฤษเพียง 2.4-2.5% แต่ทว่าประเทศอื่นๆที่ส่งออกไปอังกฤษก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกันและกระทบต่อเศรษฐกิจภายในของประเทศนั้นๆ

"เงินทุนในอังกฤษอาจจะไหลเข้ามาในพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนสูงแต่ว่ามีความเสี่ยงต่ำ ต้องรอดูว่าจะมีผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นหรือไม่"

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากอังกฤษต้องออกจากสหภาพยุโรป คือ อิเลคทรอนิกส์ สิ่งทอ การท่องเที่ยวเนื่องจากความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวอังกฤษที่จะมาไทยอาจจะลดลง ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนสินค้าเกษตรอาจจะได้รับกระทบไม่มากเนื่องจากมีการส่งออกไปอังกฤษน้อย

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทนั้น มองว่าระยะสั้นๆ อัตราแลกเปลี่ยนต้องมีความผันผวนแน่นอน โดยคาดว่าค่าเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหว +/- ประมาณ 50 สตางค์จากระดับปัจจุบัน แต่ก็ยังมีปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาดูต่อไปคือธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะตัดสินใจเกี่ยวกับดอกเบี้ยอย่างไร และปัจจัยอื่นๆในตลาดโลกประกอบกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ