รบ.ผลักดันมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อเพิ่มรายได้ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต-ความเหมาะสมของพื้นที่

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday June 18, 2016 11:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ" ว่า ในปัจจุบันรัฐบาลได้ผลักดันมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/2560 ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวม ราว 930 ล้านบาท ได้แก่ โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ กลุ่มเป้าหมายในแหล่งปลูกข้าวข้าวหอมมะลิ ใน 23 จังหวัด 1,280 หมู่บ้าน 64,000 ครัวเรือน หรือครัวเรือนละไม่เกิน 125 กิโลกรัม คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูก 640,000 ไร่

อีกโครงการหนึ่งคือโครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย ไร่นาสวนผสมในฤดูทำนาปีนี้นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาปรัง ปี 2560 โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้พี่น้องเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ กลุ่มเป้าหมายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ 22 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 60,000 ครัวเรือน ในพื้นที่ 300,000 ไร่ ให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มผลิตเพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการในด้านจัดการเรียนรู้ การผลิต การจัดการผลผลิต และการตลาด ให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการนั้นได้มีโอกาสเรียนรู้ในกิจกรรมทางเลือก ให้มีรายได้ระหว่างการลดรอบการปลูกข้าวในฤดูนาปรัง ซึ่งเรามีน้ำน้อยอยู่ในปัจจุบัน

โครงการต่อไปคือ โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำนาปี แก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ที่ผ่านความเห็นชอบเป็นกลุ่มการผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่จากคณะอนุกรรมการนโยบายและพัฒนาการเกษตร และสหกรณ์ของจังหวัด จำนวน 426 กลุ่ม ที่ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ที่เสนอขอรับการสนับสนุนเงินกู้ วงเงินกู้กลุ่มละ ไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนในอัตราร้อยละ 3.51 ต่อปี คิดดอกเบี้ยจากสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ในอัตราเพียง ร้อยละ 0.01 ต่อปี ระยะเวลาชำระเงินคืน เงินต้นนะครับไม่เกิน 12 เดือน

นอกจากนี้ มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อจะเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพ รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยี ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อเป็นการเปิดฤดูกาลผลิตใหม่ และเป็นแหล่งศึกษาดูงานในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรจะได้รับบริการของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิเช่น การเตรียมความพร้อมองค์ความรู้เพื่อจะวางแผนการผลิต การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การบริหารจัดการความเสี่ยง และการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร โดยได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดได้มีการบูรณาการ การทำงานร่วมกัน โดยใช้พื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ ทั้ง 882 ศูนย์ เป็นศูนย์รวมให้บริการแก่เกษตรกรได้เห็นตัวอย่างของจริง ให้เห็นสิ่งที่ได้รับมาหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว เพื่อจะเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพ โดยจะเริ่มเปิดให้เกษตรกรเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่องตามการเริ่มต้นการผลิตของแต่ละพื้นที่ มีเป้าหมายภาพรวมทั้งประเทศ ทั้งนี้ต้องการให้ต้นทุนการผลิตข้าวลดลงเหลือ 3,000 – 3,500 บาทต่อไร่ โดยประมาณนะครับ จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และจะต้องคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและความเหมาะสมของพื้นที่เป็นหลักด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ