พ.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ ครม.มีมติรับทราบเรื่องการขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีการนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนโดยระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นำเสนอความเห็นเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรา 31 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามที่กรมสรรพากรกำหนด ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
โดยขอเรียนว่า ทั้งบีโอไอและกรมสรรพากรได้ยึดหลักการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายที่แต่ละฝ่ายรับผิดชอบ โดยบีโอไอตีความการใช้สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ซึ่งไม่ได้กำหนดวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ไว้เป็นการเฉพาะ สอดคล้องกับการตีความของ สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา ขณะที่กรมสรรพากรตีความตามประมวลรัษฎากร ซึ่งความเห็นทางกฎหมายที่ต่างกันนั้น ไม่สามารถถือได้ว่าความเห็นของส่วนราชการแห่งใดผิดหรือถูก และที่สุดศาลฎีกาได้พิพากษาว่า การคำนวณภาษีดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลรัษฎากร
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า คำพิพากษาดังกล่าว มีผลให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร และภาคเอกชนได้ขอให้กระทรวงการคลังขยายเวลาการยื่นภาษี โดยไม่มีเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เพราะเอกชนไม่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษี แต่เกิดจากความเห็นต่างของส่วนราชการ
"รัฐบาลเล็งเห็นประโยชน์ของความสัมพันธ์ที่ดีทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับต่างประเทศ เพราะส่วนใหญ่บริษัทเอกชนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความสมัครใตในการเสียภาษี รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจึงได้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีดังกล่าว" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว