กรุงเทพโพลล์ เผยหลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมาครบ 6 เดือน สิ่งที่คนไทยเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด 87.3% คือ แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแสดงตัวมากขึ้น/พบเห็นแรงงานต่างด้าวมากขึ้น รองลงมา 78.2% คือ มีการช่วยเหลือกันระหว่างประเทศสมาชิกเมื่อประเทศในกลุ่มอาเซียนเกิดภัยพิบัติ และ 74.5% คือ มีการแข่งขันทางด้านอาชีพมากขึ้น
เมื่อถามว่าในอนาคตหลังจากประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว ประชาคมอาเซียนจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน/การทำงานมากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชน 42.6% ระบุว่า เข้ามามีบทบาทปานกลาง รองลงมา 32.2% ระบุว่าเข้ามามีบทบาทมากถึงมากที่สุด และ 25.1% ระบุว่า เข้ามามีบทบาทน้อยถึงน้อยที่สุด
ส่วนประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนที่ประชาชนอยากจะไปมากที่สุด 32.9% คือ ประเทศสิงคโปร์ รองลงมา 19.6% คือประเทศลาว และ 13.0% คือประเทศเวียดนาม
สำหรับความเห็นต่อการอยากใช้เงินสกุลเดียวกันทั้ง 10 ประเทศ ในกลุ่มประชาคมอาเซียน เหมือนเงินสกุลยูโร ในสหภาพยุโรป นั้น ประชาชน 58.8% ระบุว่าไม่อยากใช้เงินสกุลเดียวกัน ขณะที่ะ 33.7% ระบุว่าอยากใช้ ที่เหลือ 7.5% ระบุว่า ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อความเป็น“เป็นประชาชนของอาเซียน” หรือ “มีความเป็นหนึ่งเดียวกันในประชาคมอาเซียน” พบว่า 53.6% มีความรู้สึกระดับปานกลาง รองลงมา 24.7% มีความรู้สึกอยู่ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด และ 21.7% มีความรู้สึกอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด
สุดท้ายเมื่อถามว่าการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนจะทำให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทสำคัญและมีอำนาจต่อรองกับประชาคมโลก มากขึ้นใช่หรือไม่ ประชาชน 73.1% ระบุว่า “ใช่” ขณะที่ 14.4% ระบุว่า “ไม่ใช่” ที่เหลือ 12.5% ระบุว่า “ ไม่แน่ใจ”
ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,132 คน เรื่อง "คนไทยคิดเห็นอย่างไร หลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนครบ 6 เดือน" ช่วงวันที่ 15-17 มิ.ย.ที่ผ่านมา