ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดกนง. 22 มิ.ย.ยังคงดอกเบี้ย รอประเมินสถานการณ์ตลาดการเงินโลก หลังรู้ผล Brexit

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 20, 2016 12:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกรเงิน (กนง.) ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ตามเดิม เพื่อติดตามพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่อยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สนับสนุนให้ กนง. มีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ตามเดิม โดยเครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศในช่วงต้นไตรมาสที่ 2/59 ยังคงให้ภาพการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก (ที่ภาพรวมจีดีพีขยายตัวที่ 3.2% YoY ในไตรมาส 1/2559 ขยับขึ้นจากที่ขยายตัว 2.8% YoY ในไตรมาส 4/2558) โดยเฉพาะการขยายตัวของรายจ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและกึ่งคงทน ตลอดจนสัญญาณที่เริ่มกลับมาเป็นบวกของรายได้เกษตรกร

ขณะที่มองไปข้างหน้า การเร่งลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ รวมทั้งแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยว ก็คงเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี และทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถประคองการขยายตัวในภาพรวมของปีนี้ไว้ได้ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 3% ซึ่งก็น่าจะสอดคล้องกับระดับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ มองว่า กนง. ก็น่าจะต้องการรอประเมินสถานการณ์ของตลาดการเงินโลก ภายหลังการลงประชามติของสหราชอาณาจักร (UK) ในเรื่องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ในวันที่ 23 มิ.ย. นี้ หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ กนง. อาจต้องการสงวนช่องว่าง/พื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินไว้ใช้สำหรับกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ซึ่งก็เป็นท่าทีที่สอดคล้องกับธนาคารกลางชั้นนำหลายๆ แห่งของโลก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางยุโรป ที่ต่างก็มีมติคงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินไว้ตามเดิมในการประชุมนโยบายการเงินรอบล่าสุด เพื่อเฝ้าติดตามผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรอย่างใกล้ชิด

"สถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องท่ามกลางแรงสนับสนุนจากแผนการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ คงจะเอื้อให้ กนง. สามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ไว้ตามเดิมในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 22 มิ.ย. นี้ เพื่อ “เก็บขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือ Policy Space” และเฝ้าติดตามพัฒนาการความเสี่ยงภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากกรณี BREXIT ที่อาจมีผลกระทบต่อเนื่องต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินหากจำเป็นต่อไป" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ

ขณะที่ มองว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ในระยะต่อไป อาจ ”แปรผัน” ไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามหลายด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการลงประชามติการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ของ สหราชอาณาจักร (UK) ซึ่งหาก ผลออกมาว่า สหราชอาณาจักรตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป “Leave” ก็อาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก รวมทั้งอาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศในยุโรปและสหราชอาณาจักร กลับสู่ภาวะชะงักงัน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ย่อมมีผลกระทบต่อเนื่องมายังทิศทางการค้าโลกที่ก็อยู่ในภาวะเปราะบางอยู่แล้วในขณะนี้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางปัญหาหนี้ภาคเอกชนที่อาจจะเพิ่มความอ่อนไหวต่อภาคการเงินของจีน ซึ่งทิศทางดังกล่าว คงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่มีมูลค่าการค้ากับจีนในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

การดำเนินนโยบายการเงินของเฟดที่อาจเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น ทั้งนี้ ในการประชุมเฟดรอบมิ.ย. ที่ผ่านมา เฟดได้มีการปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2560-2561 รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว อันสะท้อนถึงมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจเผชิญกับหลายปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ดังนั้นแล้ว แม้พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลังจากนี้จะยังคงสะท้อนภาพการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และ/หรือแรงกดดันเงินเฟ้ออาจเริ่มทยอยมีน้ำหนักมากขึ้นต่อการตัดสินใจของเฟด แต่คงต้องยอมรับว่า จังหวะเวลาการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะยังคงมีความคลุมเครืออยู่ต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

พฤติกรรมการลงทุนของเอกชนที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นนั้น เป็นหนึ่งในประเด็นที่กนง. และกนส. ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยจะเห็นได้จากปริมาณการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Non-Rated Bonds) ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางภาวะที่ระดับอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยทรงตัวในระดับต่ำ โดยกนง. น่าจะติดตามพฤติกรรมการลงทุน Search for Yield ภายใต้สภาวะดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นประเด็นที่ผูกโยงกับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินในระยะข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ