นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ในฐานะเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ร่วมกับสมาชิก 11 สมาคมผู้ประกอบธุรกิจด้านปศุสัตว์ แถลงชี้แจงสถานการณ์อาหารสัตว์ในประเทศไทย โดยเฉพาะข้าวโพดที่ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าทดแทนว่า ขณะนี้ผู้ผลิตอาหารสัตว์มีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวสาลีและกากข้าวโพด (DDGS) เนื่องจากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยผลผลิตมีเพียง 4.5-4.6 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดอยู่ที่ปีละ 7.8-7.9 ล้านตัน นอกจากนี้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ยังคงซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรตามนโยบายพยุงราคาของกระทรวงพาณิชย์ในราคาเฉลี่ยประมาณ 8.50 บาทต่อก.ก.
"การนำเข้าข้าวสาลีและกากข้าวโพดเอทานอล เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ เนื่องจากผลผลิตในประเทศขาดแคลน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบในประเทศตกต่ำ ทั้ง ข้าวโพด มันสำปะหลัง หรือ ปลายข้าวแต่อย่างใด...ผูประกอบการ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่ต้องการนำเข้าเกินกว่าความเป็นจริง เพราะจะเกิดต้นทุนในการเก็บรักษา" นายพรศิลป์ กล่าว
นายพรศิลป์ กล่าวว่า ธุรกิจอาหารสัตว์เป็นห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อรองรับการเป็นครัวโลกตามนโยบายของรัฐบาล โดยปัจจุบันห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทยมีมูลค่ากว่า 7.5 แสนล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านล้านบาทในอนาคต
ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์มีการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 7.2% และในปี 2559 ปริมาณความต้องการอาหารสัตว์อยู่ที่ 18.63 ล้านตัน แต่การเติบโตของการผลิตวัตถุดิบหลักมีแนวโน้มทรงตัวหรือเติบโตไม่ทันต่อความต้องการใช้ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 1% เท่านั้น
"สาเหตุที่ข้าวโพดในประเทศขาดแคลนเพราะปลูกไม่ขึ้น เพราะความสามารถในการผลิตเราไม่มี อาจจะมีพืชอื่นมาแย่งไปในบางจังหวะ การแก้ก็ต้องมาช่วยกันจริงจัง เพราะตอนนี้ต่างคนต่างทำ เรื่องประชารัฐก็ไม่มีข้าวโพดอยู่ข้างใน มีแต่ อ้อย มัน ยางพารา ข้าว...อยากให้เอาข้าวโพดเข้าประชารัฐด้วย"นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ กล่าว
นอกจากนี้ ทางสมาพันธ์ฯ และ 11 สมาคมฯ จะไปยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ใน 7 ประเด็นที่ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ ระบุว่าการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทข้าวสาลีและกากข้าวโพดเอทานอล ในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบภายในประเทศและขอให้รัฐบาลระงับการนำเข้าวัตถุดิบดังกล่าว รวมทั้งจะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพต่อนายกรัฐมนตรีด้วย
นายพรศิลป์ กล่าวว่า ทางออกที่ดีของปัญหาดังกล่าวคือการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพการผลิตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทย เพื่อดูและกระบวนการปลูกข้าวโพดให้ครบวงจรทั้งระบบ ทุกฝ่ายต้องมาทำงานร่วมกันทั้งผู้ผลิตอาหารสัตว์ สภาเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาทำให้ข้าวโพดเป็นธุรกิจที่อยู่ได้จริงๆ มาช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆ อย่างเช่น ปัญหาข้าวโพดขาดแคลนในขณะนี้สามารถแก้ไขได้แต่ต้องมาทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องของพื้นที่ เมล็ดพันธุ์ สิ่งแวดล้อม วางแผนอย่างไรให้ปริมาณเพิ่มขึ้น