(เพิ่มเติม) "สมคิด" เร่งเอกชนลงทุนมากขึ้นกระตุ้นศก. หลังมองช่วงที่เหลือมีหลายปัจจัยอยู่เหนือการควบคุม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 20, 2016 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา เรื่อง "อนาคตเศรษฐกิจไทยในยุค 4.0" จัดโดยหอการค้าไทย-จีน โดยเรียกร้องให้ภาคธุรกิจเอกชนเพิ่มการลงทุนภายในประเทศไทยให้มากขึ้น อาศัยอานิสงส์ของรัฐบาลชุดนี้ภายใต้การบริหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมองว่าในช่วง 2-3 ปีจากนี้จะเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญของประเทศ ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องแสดงพลังเพื่อร่วมกันช่วยพลิกฟื้นประเทศ เพราะลำพังรัฐบาลเพียง 36 คน และงบประมาณที่มีอยู่จำกัดคงไม่อาจทำให้ประเทศเดินหน้าได้อย่างเต็มที่

"ประเทศจะอยู่ได้เอกชนตัองเป็นตัวนำ ต้องเสียสละประเทศจึงจะเดินได้...เราโชคดีที่มีนายกฯ ที่เสียสละ จริงจัง ไม่ทุจริต พวกท่านไม่ต้องจ่ายค่าต๋ง ถ้าจ่ายให้ใครบอกชื่อมา รับรองว่าคนนั้นไปแน่นอน...อยากให้ใช้หน้าต่างแห่งโอกาสของรัฐบาลนี้ที่เหลืออีกแค่ 1 ปี ปฏิรูปวางรากฐานให้ประเทศ เราต้องให้พวกท่านช่วย พวกผมจะทำงานอย่างเต็มที่ เหนื่อยไม่ว่า" นายสมคิดกล่าว

พร้อมระบุว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ให้เศรษฐกิจไทยทรุดตัวไปตามเศรษฐกิจโลก โดยได้พยายามประคองเศรษฐกิจไว้อย่างเต็มที่ ซึ่งล่าสุดจะเห็นได้จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 3.2% ถือว่าเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งต้องจับตาในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อว่าจะเป็นอย่างไร เพราะหลายอย่างขึ้นอยู่กับปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก และภาคการส่งออก

ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่ดีนัก สหรัฐฯ เองยังไม่ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่สหภาพยุโรปแม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะอังกฤษจะออกจาก EU หรือไม่ แต่ขณะนี้ก็ทำหลายประเทศมีความวิตกกังวลไปแล้ว ดังนั้นจึงเห็นว่าภูมิภาคเอเชียน่าจะมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากที่สุดแล้ว เพราะถือเป็นภูมิภาคเดียวที่ยังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร โดยเฉพาะในอาเซียนที่เศรษฐกิจเติบโตสูงมาก

นายสมคิด กล่าวว่า หลายประเทศชื่นชมที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกสามารถเติบโตได้ถึง 3.2% แต่ขณะเดียวกันยังมีคำถามว่าการเติบโตในระดับนี้จะมีความยั่งยืนหรือไม่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่อย่างนี้ ซึ่งตนได้ชี้แจงต่อนานาประเทศไปว่าภายใต้การบริหารงานในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ มีปรากฎการณ์อยู่ 3 สิ่งที่ทำให้เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถยืนอยู่ได้ ซึ่งประกอบด้วย

1.ความมุ่งมั่นในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การปฏิรูปอยู่ในสภาฯ เท่านั้น แต่มีทั้งการปฏิรูปนโยบายต่างประเทศ การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำ โดยปฏิรูปภาคการเกษตรทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่ม มีความทันสมัย บรรเทาให้เกษตรกรสามารถยืนอยู่ได้ในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย.) คณะรัฐมนตรีจะมีการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสำหรับฤดูการผลิตใหม่ด้วย

2.ปรากฎการณ์ด้านการลงทุน ซึ่งได้มีความพยายามสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติด้วยการสร้างความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล หรือการทำสัญญาคุณธรรม เพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นปัจจัยหนึ่งสำหรับประกอบการตัดสินใจเข้ามาลงทุน ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกิดความโปร่งใส และจูงใจให้เกิดการเข้ามาลงทุนในประเทศ เช่น พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง, พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ, พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

"เราโชคดีที่เรามีความคิดที่จะลงทุนในเมกะโปรเจ็กท์ พอเศรษฐกิจทรุดลง เราเร่งมา 6 เดือนเต็ม มันก็ออกผลในจังหวะที่ควรจะออกผล ลองนึกดูว่าถ้าตอนนั้นเราไม่ได้คิดโครงการลงทุนใหญ่ๆ ไว้ ตอนนี้มันจะมีโครงการเหล่านี้ออกมาหรือไม่ เพราะกว่าจะผ่านขั้นตอน EIA HIA เป็นปี นี่รถไฟฟ้าผ่านไปแล้ว 3 เส้น กำลังจะเปิดประมูล และจะมีตามมาอีกเยอะ ทั้งหมดที่ลงทุนไม่ได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็เพื่อทำให้เรายกระดับตัวเองขึ้นมาให้เป็นประเทศที่น่าดึงดูดการลงทุน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง เราจะเป็น HUB ในอาเซียนไม่ได้เลย ถ้าเราไม่มีความเชื่อมโยง และนี่คือหัวใจสำคัญ" นายสมคิดกล่าว

พร้อมกันนั้น เห็นว่าในช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ภาคเอกชนนำเงินไปลงทุน เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บในการพัฒนาธุรกิจของตัวเอง จากการก้าวจากยุคอนาล็อกมาสู่ยุคดิจิตอล และเป็นการเตรียมความพร้อมของธุรกิจในการที่จะออกไปต่อสู้กับเวทีโลกในเวลาที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว

3.การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งหลังจากที่เริ่มลดหย่อนอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ในระหว่างประเทศอาเซียน ทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20% จาก 10% ส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวจากอาเซียนเข้าไทยจากระดับ 1 ล้านคนมาสู่ระดับ 8 ล้านคน การลงทุนของเอกชนไทยที่ไปลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยล้านดอลลาร์ ไปเป็นระดับพันล้านดอลลาร์

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า การที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง เพราะอนาคตจะมีการเชื่อมโยงกันระหว่างภูมิภาคมากขึ้น ประเด็นสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ไทยมีความโดดเด่นมากที่สุดในอาเซียน ซึ่งหากมองความได้เปรียบของไทยนั้น จะพบว่ากรณีแหล่งที่ตั้งไทยได้เปรียบประเทศอื่นอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้การตัดสินใจเข้ามาทำการค้า การลงทุนคงไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยด้านความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์เพียงเท่านั้น แต่อีกปัจจัยที่สำคัญคือต้องขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ

"ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาต้องการเสถียรภาพทางการเมือง เป็นระบบ ระบอบอะไรก็แล้วแต่ มันขึ้นกับเงื่อนไขและสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือ อย่าให้เป็นรัฐที่ล้มเหลว เพราะถ้าเกิดแบบนี้ขึ้น นักลงทุนไม่ว่าประเทศไหนคงไม่มีใครรับได้ ดังนั้นมันไม่ได้ขึ้นกับผม ไม่ได้ขึ้นกับนายกฯ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่ขึ้นอยู่กับคนไทยทั้งประเทศว่าจะมีจิตสำนึกมากน้อยแค่ไหน จะเอาส่วนตนเป็นใหญ่ หรือจะเอาประเทศเป็นใหญ่ ชะตาประเทศขึ้นกับคนไทยทุกคน" นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า จากการเดินทางไปประเทศอินเดียพร้อมกับคณะของนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นการไปหาลู่ทางเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับอินเดียให้แน่นแฟ้นขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีของอินเดียเองมีนโยบายที่จะลดอุปสรรคทางในการทำธุรกิจระหว่างกัน และช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้มากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยเองยังแสดงความพร้อมที่จะใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการทำการค้าระหว่างไทย-อินเดีย ให้มีความสะดวกคล่องตัวมากขึ้นด้วย หลังจากที่กว่า 10 ปีที่ผ่านมาการเจรจาการค้าระหว่าง 2 ประเทศแทบจะไม่มีความคืบหน้า

"ใน 10 ปี การเจรจาการค้าสินค้ากว่าหมื่นรายการ คืบหน้าไปแค่ 80 รายการ การไปครั้งนี้ถือโอกาสดูว่าจะมีหนทางใดที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนให้มากขึ้นกว่าเดิม...นายกรัฐมนตรีของไทยเสนอคือ เราอย่าเอาหัวชนกำแพง ทำในสิ่งที่ไม่เกิดผล แต่เรามาเริ่มกันเลยว่าอุตสาหกรรมไหนเราต้องการ อุตสาหกรรมไหนอินเดียต้องการ มาดูเลยว่าอะไรจะลดอุปสรรคได้โดยที่นายกฯ ยินดีจะใช้ ม.44 ในการแก้ไขอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ให้ สิ่งนี้จะเป็นการทลายอุปสรรคได้ เพราะไม่เช่นนั้นการเจรจาต่อรองภาษีสินค้านับหมื่นรายการ คงจะเดินไม่ได้" นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้ อินเดียเองเริ่มให้ความสำคัญกับการทำการค้าการลงทุนในกลุ่มอาเซียน โดยต้องการให้ไทยเป็นประตูไปสู่อาเซียน ในขณะที่ไทยเองก็เล็งจะใช้อินเดียเป็นจุดเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่ม BIMSTEC หรือประเทศในกลุ่มอ่าวเบงกอลด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ