Brexit: ประธานสรท.มองศก.ไทยหลีกเลี่ยงผลกระทบกรณีอังกฤษออกจาก EU ไม่พ้น แนะใช้เป็นบทเรียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 20, 2016 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก ชี้กรณีประเทศอังกฤษเตรียมทำประชามติว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) หรือไม่นั้น สำหรับประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่พ้น อาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจแย่หนักไปกว่าปัจจุบัน แต่คิดว่าคงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าแล้ว ซึ่งควรใช้เป็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ และใช้เป็นบทเรียนในการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หรือการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership หรือTPP) ที่ต้องไม่ให้สูญเสียอำนาจในการตัดสินใจ ต้องคำนึงถึงความสมดุลของผลประโยชน์ทั้ง 3 ด้าน คือ ความมั่นคงทางการเมือง ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนทางสังคม

ชนวนปัญหากรณี Brexit ไม่ได้เกิดจากเรื่องเศรษฐกิจ แต่มาจากเรื่องความมั่นคง ได้แก่ มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพจากฝั่งยุโรปตะวันออก, การคว่ำบาตรรัสเซีย, การเข้าร่วมทำสงครามในตะวันออกกลางกับสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษสูญเสียอำนาจในการตัดสินใจ แต่ดำเนินนโยบายเป็นไปตามมติของคณะมนตรี EU ซึ่งดำเนินนโยบายผิดพลาด

"การรวมกลุ่มไม่ใช่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ละประเทศปกครองต่างกัน ไม่สามารถเติบโตไปพร้อมๆกันได้ ทำให้มีผู้ได้เปรียบและผู้อ่อนแอ การรวมกลุ่มของ EU เป็นบทพิสูจน์ว่าไม่เหมาะกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน" นายนพพร กล่าว

เมื่อก่อนตนเองคิดว่าประเทศอังกฤษคงไม่ออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) แต่ตอนนี้ชักไม่แน่ใจ เพราะหากประเทศอังกฤษตัดสินใจออกจากการเป็นสมาชิก EU แม้จะเกิดผลกระทบระยะสั้นเพราะต้องเริ่มต้นใหม่ เกิดปัญหาค่าเงินตก แต่จะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของตัวเองในระยะยาว โดยสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ภายใน 2-3 ปี เพราะวิกฤตในกลุ่ม EU เป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย

การรวมกลุ่มน่าจะสร้างความเข้มแข็งแต่กลับอ่อนแอ แม้ในช่วงแรก EU จะดีขึ้น แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในกรีซ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส กลายเป็นปัญหาโดมิโน กรณีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของ EU เพราะรวมตัวแล้วไม่ได้เข้มแข็งจริง ประเทศอื่นๆ จะตามออกมา

นายนพพร กล่าวว่า บางทีอาจเป็นผลดีที่เราสามารถเจรจาการค้ากับอังกฤษได้ง่ายกว่าแค่ประเทศเดียว ไม่ใช่ต้องเจรจารวมทั้งกลุ่ม 20 กว่าประเทศ

"กรณีนี้คงสะเทือนไปทั่วโลก ไม่ว่าจะออกหรือไม่ออก ถ้าออกผลกระทบก็มากหน่อย ไม่ออกก็กลายเป็นรอยร้าวที่รอวันปะทุใหม่ ทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อเอาตัวรอด สร้างความเข้มแข็งภายในเป็นภูมิคุ้มกันตัวเองก่อนที่จะไปช่วยคนอื่น มันเหมือนสึนามิลูกใหม่ที่กำลังมา" นายนพพร กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ