นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสจะขยายตัวได้ตามกรอบที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.2-3.5% โดยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.3%
แต่ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ เพราะหากเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีขึ้นก็จะทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวดีขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่าครึ่งปีหลังการส่งออกจะขยายตัวได้ 2.6% และทั้งปีจะขยายตัวได้ 0.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.9% และทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 0.4%
“ปัจจัยที่ทำให้เราเชื่อว่าการส่งออกในครึ่งปีหลังจะโตได้กว่า 2% เป็นเพราะราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มขยับขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนสินค้าเกษตรมีราคาเพิ่มขึ้น ในขณะที่ด้านปริมาณอาจจะยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก" นายอิสระ กล่าว
สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ประกอบด้วย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เริ่มมีผลต่อการบริโภค, การลงทุนของภาคเอกชน, ภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง, การส่งออกที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว, รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำและงบลงทุน, การดำเนินนโยบายการเงินด้วยการใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำที่ 1.50% ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ, ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น, มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ การค้าชายแดนยังเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 81.95% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดระหว่างไทย-เมียนมา หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.14 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเมียนมา มีมูลค่าการค้ากับไทยในสัดส่วน 33.4% ดังนั้นจึงถือว่าไทยยังมีโอกาสที่จะขยายมูลค่าทางการค้ากับเมียนมาได้อีกมาก
นายอิสระ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยลบที่หอการค้าไทยยังมีความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เช่น ปัญหาภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งมีผลทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรหายไป, สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากกังวลกับตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL), ความกังวลหากเกิดกรณีสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในสินค้าประมงเป็นการชั่วคราว, แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลให้จีนชะลอการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและหันมาพึ่งพาสินค้าที่ผลิตได้เองภายประเทศ