นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงการเดินทางมาเยือนไทยของนางอองซาน ซูจี ในระหว่างวันที่ 23-25 มิ.ย.นี้ว่า หอการค้าไทยเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะมีแนวทางร่วมมือกันในด้านต่างๆ รวมทั้งขยายลู่ทางการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น โดยหอการค้าไทยเสนอประเด็นในการผลักดัน ดังนี้
1. ผลักดันการยกระดับจุดผ่อนปรนพิเศษสิงขร และจุดผ่อนปรนเจดีย์สามองค์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาการค้าชายแดนให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยในปี 2558 จุดผ่อนปรนเจดีย์สามองค์ มีมูลค่าการค้าประมาณ 3 พันล้านบาท และจุดผ่อนปรนพิเศษมะริด-สิงขร ประเทศไทย มีการนำเข้าสินค้าเป็นมูลค่า 60.4 ล้านบาท และส่งออก 99 ล้านบาท
2. เรื่องการทำ Visa On Arrival (VOA) ณ ด่านชายแดนไทย ซึ่งปัจจุบันไทยและเมียนมาได้มีการยกเลิกการตรวจลงตราวีซ่าระหว่างกันเฉพาะผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศทางอากาศเท่านั้น ไทยและเมียนมายังไม่สามารถทำการตรวจลงตรา VOA ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทยได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องความมั่นคงประโยชน์ที่จะได้รับจากการผลักดันให้มีการทำ VOA ณ ด่านชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจที่อยู่เมืองชายแดนของทั้งสองประเทศสามารถเดินทางติดต่อทำการค้ากันได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะชาวเมียนมาซึ่งไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำวีซ่าถึงเมืองย่างกุ้ง และชาวเมียนมาที่อยู่บริเวณชายแดนสามารถเดินทางเข้ามารักษาพยาบาล และท่องเที่ยวในเมืองชั้นในของฝั่งไทย อาทิ พิษณุโลก และสุโขทัย
3. ผลักดันเรื่องการขอขยายเวลาการใช้ Border Pass ซึ่งปัจจุบันชาวเมียนมาสามารถใช้ Border Pass เข้ามาในฝั่งไทยโดยเฉพาะอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้เพียงแค่ 1 วัน หรือ มาเช้า-เย็นกลับ เท่านั้น จึงเสนอให้ผลักดันการขยายเวลาการใช้ Border Pass เข้า-ออกไทยสำหรับชาวเมียนมาเพิ่มจากเดิมเป็น 7 วัน โดยประโยชน์ที่จะได้รับจากการขยายเวลาการใช้ Border Pass ดังกล่าวจะทำให้ชาวเมียนมาสามารถมีเวลาเข้ามาท่องเที่ยวและซื้อสินค้าในฝั่งแม่สอดได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การค้าชายแดนในส่วนของด่านแม่สอด-เมียวดี มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement on Employment) ระหว่างไทยและเมียนมา ซึ่งจะทำให้ทั้ง 2 ประเทศมีความร่วมมือในการแก้ปัญหาด้านแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือด้านแรงงานและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการจัดตั้งกรอบการทำงานที่ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกของทั้งสองฝ่าย และบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน จัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน และเพื่ออำนวยความสะดวกในการจ้างแรงงานให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส คำนึงถึงสิทธิของแรงงาน และขจัดปัญหาการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
ประธานกรรมการหอการค้าไทย ยังกล่าวถึงความกังวลของผู้ประกอบการว่า เมื่อนางอองซานเดินทางไปเยี่ยมเยียนแรงงานชาวพม่าใน จ.สมุทรสาคร แล้วอาจจะมีการจูงใจให้แรงงานพม่ากลับไปทำงานยังถิ่นฐานเดิมว่า กรณีนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องกังวลกันมากนัก เพราะเชื่อว่าโรงงานของไทยมีการดูแลแรงงานต่างด้าวอย่างดี ในขณะที่ประเทศเมียนมาเองก็ยังไม่ได้มีการจ้างงานมากนัก หากเทียบกับการทำงานในประเทศไทยแล้ว แรงงานพม่าจะได้รับโอกาสการจ้างงานที่ดีกว่ากลับไปทำงานในเมียนมา
"คณะทำงานด้านแรงงานของหอการค้าไทยศึกษาแล้วว่าไม่น่าจะมีผลกระทบ เพราะทางเมียนมาเองก็ไม่มีการจ้างงานมาก ตราบใดที่เงื่อนไขการจ้างงานของเราดีกว่า เพราะมีมาตรฐานสูงกว่า แรงงานก็คงไม่กลับไปทำงานที่เมียนมา...คงเป็นแค่ความกังวลของผู้ประกอบการ แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีแรงงานคนไหนอยากกลับไป แต่ต้องรอดูก่อนว่าเมื่อนางอองซานมาแล้ว จะมีความเคลื่อนไหวอะไรบ้าง" นายอิสระ กล่าว
อย่างไรก็ดีเห็นว่าผู้ประกอบการของไทยที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก อาจจะต้องเริ่มมีการปรับตัวและพัฒนาธุรกิจของตัวเองด้วยการลดการพึ่งพาแรงงาน และหันมาใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนให้มากขึ้น
ด้านนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การค้าชายแดนยังคงเป็นปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะการค้าชายแดนไทย – เมียนมา ซึ่งมีสัดส่วน 81.95% ของมูลการค้าระหว่างไทย – เมียนมา ทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 214,694.38 ล้านบาท โดยเมียนมามีมูลค่าการค้ากับทั่วโลก 783,720 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าการค้าทั้งหมดกับไทย มีเพียง 261,975.13 ล้านบาท คิดเป็น 33.4% เท่านั้น ดังนั้น ไทยยังมีโอกาสในการค้ากับเมียนมาอีกมาก