ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 4 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรฤดูกาลผลิตรอบใหม่ วงเงินรวมกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท คาดช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.1%
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แถลงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย
1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 59/60 โดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการเพาะปลูก 57/58 กับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการเพาะปลูก 59/60 รายละไม่เกิน 10 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท รวมวงเงิน 37,000 ล้านบาท
ทั้งนี้เดิมได้มีการกำหนดรายละ 1 – 15 ไร่ แต่การดำเนินการครั้งนี้ได้มีการลดลงมาเป็นรายละไม่เกิน 10 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท เพื่อให้สามารถดูแลเกษตรกรรายย่อยได้มากขึ้น
2) โครงการชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 59/60 โดยเป็นพักชำระต้นเงินให้แก่เกษตรกรที่มีหนี้เงินกู้วัตถุประสงค์เพื่อการผลิตข้าวกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยเลื่อนกำหนดชำระคืนต้นเงินเป็นระยะเวลา 2 ปี และลดดอกเบี้ยเงินกู้ 3.00% ต่อปีให้เกษตรกร เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัญหาในเรื่องของภัยแล้ง และให้สามารถผ่านพ้นในช่วงการเพาะปลูกข้าวขณะนี้ไปได้ รวมวงเงิน 5,400 ล้านบาท
3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อยที่ต้องการพัฒนาศักยภาพ ระยะที่ 1 อบรมเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. กำหนดเป้าหมาย จำนวน 300,000 ราย โดยอบรมเกี่ยวกับความรู้ทางการเงิน หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการฝึกปฏิบัติการจัดทำบัญชีครัวเรือน ระยะที่ 2 อบรมเกษตรกรให้มีความรู้กลายเป็น SME เกษตร เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายประมาณ จำนวน 15,000 ราย วงเงิน 258 ล้านบาท
4) โครงการประกันภัยข้าว วงเงิน 1,200 ล้านบาท จะทำให้ผู้เอาประกันได้รับความคุ้มครองที่เกิดจากภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง ฝนแล้ง รวมถึงภัยศัตรูพืชและโรคระบาด รวมทั้งยังจะเป็นต้นแบบของการประกันพืชผลสำหรับเกษตรกรในระยะยาว ทั้งนี้ หลักการการดำเนินการจะทำให้เกษตรกรซึ่งกู้เงินกับ ธ.ก.ส. ทุกรายมีประกันดังกล่าวควบคู่ไปด้วย โดยส่วนหนึ่ง ธ.ก.ส.จะใช้งบประมาณของ ธ.ก.ส. สนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้เอง และอีกส่วนจะมาจากงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรมีหลักประกันเพื่อป้องกันในอนาคตหากเกิดปัญหาขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีการขยายผลการดำเนินการประกันภัยไปให้ครอบคลุมพืชผลทุกชนิดของประเทศไทย เพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงสำหรับเกษตรกรของประเทศไทยต่อไป โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติ