นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เข้าเป็นประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Development Bank: AIIB) อย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากได้ส่งมอบสัตยาบันสารต่อความตกลงว่าด้วยธนาคาร AIIB เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.59 ทำให้ประเทศไทยเป็นสมาชิกของธนาคารฯ โดยสมบูรณ์
ทั้งนี้ จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของธนาคารฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย โดยขณะนี้ มีประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันต่อความตกลงว่าด้วยธนาคาร AIIB แล้วจำนวน 39 ประเทศ จากประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งทั้งหมด 57 ประเทศ
นายกฤษฎา กล่าวว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสภาผู้ว่าการประจำปีของธนาคาร AIIB ครั้งที่ 1 ซึ่งถือเป็นการจัดขึ้นครั้งแรก รวมถึงการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างวันที่ 25-26 มิ.ย.59 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยภารกิจในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้มีวาระสำคัญ ดังนี้
1. การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย ครั้งที่ 1 ในวันเสาร์ที่ 25 มิ.ย.59 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการธนาคารจากประเทศสมาชิกของธนาคาร AIIB อย่างเป็นทางการ โดยมีวาระสำคัญคือการเลือกตั้งคณะกรรมการธนาคาร (Board of Directors) ชุดแรกของธนาคารเพื่อดำรงตำแหน่งในวาระปี 2559-2561 รวมถึงการรับทราบและให้ความคิดเห็นต่อรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานและงบประมาณของธนาคาร AIIB
2. การสัมมนาในหัวข้อ "Infrastructure and Global Economic Growth" และ "Financing Green Infrastructure : The Role of Multilateral Development Banks (MDBs)" ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 26 มิ.ย.59 เพื่อหารือถึงความสำคัญและความเชื่อมโยงของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และบทบาทของธนาคาร AIIB ในการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การเข้าร่วมการประชุมของ รมว.คลังครั้งนี้ นอกจากจะเป็นโอกาสที่จะได้เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศสมาชิกอื่นแล้ว ยังเป็นการเน้นย้ำบทบาทของประเทศไทยในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในภูมิภาคผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่คำนึงถึงการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลควบคู่กันไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งธนาคารฯ ในการลดช่องว่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของประเทศในภูมิภาคนี้
อนึ่ง การจัดตั้งธนาคาร AIIB เพื่อเป็นกลไกทางการเงินระหว่างประเทศในระดับพหุภาคี (Multilateral Financing Mechanism: MFM) สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสาขาการพัฒนาอื่นที่สำคัญในประเทศกำลังพัฒนาภูมิภาคเอเชีย ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนต.ค.56 มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมเจราจาหารือรวม 57 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศในภูมิภาคเอเชีย 37 ประเทศ และประเทศนอกภูมิภาคเอเชีย 20 ประเทศ หลังจากมีการเจรจาหารือเพื่อเตรียมการจัดตั้งรวม 8 ครั้ง จนได้ข้อสรุปเมื่อ 4 พ.ย.58 และได้มีพิธีเปิดทำการอย่างเป็นทางการ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 16 ม.ค.59 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน