คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/2559 ในวันที่ 22 มิ.ย.59 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปีตามคาด ในขณะที่ภาวะการเงินในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย และเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ตามคาด แต่การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวในระดับต่ำ และการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวตามเศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอลงมากกว่าคาด ในภาพรวมแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยวช่วยชดเชยการส่งออกสินค้าที่ปรับลดลง ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่เท่ากับประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยความเสี่ยงด้านต่ำยังมีอยู่จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาด และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง อย่างไรก็ดี ความกังวลด้านภัยแล้งลดลง และราคาสินค้าเกษตรบางรายการเริ่มปรับดีขึ้น
แรงกดดันเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค.ที่ปรับเป็นบวกมากขึ้นจากราคาพลังงานและอาหารสดที่เร่งขึ้น และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เริ่มปรับสูงขึ้นเล็กน้อย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับสูงขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี
ภาวะการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่อยู่ในระดับต่ำ การระดมทุนโดยรวมของภาคธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือนยังขยายตัวได้ แม้ธุรกิจบางกลุ่มยังมีข้อจำกัดในการได้รับสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นว่ายังคงต้องติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) จากการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ยังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในระยะต่อไป อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ผลการลงประชามติในสหราชอาณาจักร (Brexit) และความเสี่ยงในภาคการเงินจีน
ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะตลาดเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ