นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)ได้จัดกิจกรรมสัมมนาและเจรจาธุรกิจ(Business Matching)ระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น โดยมีบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่สนใจลงทุนในประเทศไทย จำนวน 14 บริษัท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ประเทศญี่ปุ่นมีความสนใจในการลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เนื่องจากไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ การคมนาคมที่สะดวกทันสมัย และแรงงานที่มีศักยภาพ จากการจัดกิจกรรมดังกล่าวคาดว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจได้ไม่ต่ำกว่า 50 ราย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสอ. ได้ดำเนินโครงการ“โต๊ะญี่ปุ่น”(Japan Desk) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมและพัฒนา SMEsให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเป็นความร่วมมือ ระหว่างรัฐกับรัฐ ซึ่งได้มีความร่วมมือกับจังหวัดต่าง ๆ ของญี่ปุ่น อาทิ จังหวัดไซตามะ จังหวัดยามานาชิ จังหวัดอาคิตะ จังหวัดโทโทริและจังหวัดเกียวโต เป็นต้น โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนในไทยกว่า 700 กิจการ จาก 19 หน่วยงาน อาทิ อุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทออุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะยังคงเน้นในการขยายความร่วมมือไปยังจังหวัดและเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของญี่ปุ่นตามแต่ละพื้นที่ที่มีจุดเด่นสอดคล้องอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย
อนึ่ง ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยทั้งในด้านการค้าและอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของไทยรองจากประเทศจีน และมีการลงทุนสูงถึง 40% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดโดยพบว่าการลงทุนของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในไทยมีมูลค่ารวมประมาณ 1.6 แสนล้านบาท (ธนาคารแห่งประเทศไทย)
"การร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น จะช่วยให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและช่วยสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งขึ้นและหากสามารถขยายเครือข่ายอุตสาหกรรมไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ ก็จะทำให้เรายิ่งมีห่วงโซ่การผลิตที่เข้มแข็งในอนาคต" นายประสงค์ กล่าว