นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในงานแถลงเปิดบริการใหม่"ประกันส่งออกทันใจ SMEs (Instant SMEs Export Insurance)" ว่า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ส่งออก SMEs ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการสมัคร อนุมัติ และความคุ้มครองผู้ซื้อเฉพาะรายที่อาจเพิ่งรู้จักและยังไม่คุ้นเคย เนื่องจากในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกยังซบเซา แต่โอกาสทางการค้ายังมีอยู่มากขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย เครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยแข่งขันได้คือ การทำประกันการส่งออกทุกครั้งที่ส่งออก เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ทำให้ผู้ส่งออกกล้าเสนอเงื่อนไขการค้าที่ผ่อนปรนได้มากกว่าคู่แข่ง รวมทั้งกล้าค้าขายในตลาดใหม่หรือกับผู้ซื้อรายใหม่ที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีฐานทุนทางธุรกิจไม่มากนัก
สำหรับบริการประกันส่งออกทันใจ SMEs เป็นบริการประกันการส่งออกรูปแบบใหม่ที่สมัครง่าย อนุมัติเร็วภายใน 1 วัน และคุ้มครองทันทีที่ได้รับอนุมัติในอัตรา 85% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการไม่รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ วงเงินสูงสุดถึง 1 ล้านบาท โดยคุ้มครองความเสี่ยงจากผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า และความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศผู้ซื้อ เช่น การควบคุมการโอนเงิน การห้ามนำเข้าสินค้า สงคราม จลาจล ปฏิวัติ รัฐประหาร
โดย EXIM BANK จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนทันทีกรณีผู้ซื้อล้มละลาย และจ่ายภายใน 120 วันกรณีผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงินและอื่นๆ รวมทั้งติดตามหนี้ให้ บริการนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีแผนจะส่งออกหรือกำลังจะส่งออก โดยมีมูลค่าการส่งออกแต่ละครั้งไม่สูงนัก หรือไม่ได้รับคำสั่งซื้อป็นประจำ หรือผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังจะไปเจรจาการค้าที่งานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และต้องการความคุ้มครองกรณีผู้ซื้อรายนั้นไม่ชำระเงินค่าสินค้าส่งออก เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการเสนอเงื่อนไขการชำระเงินและตัดสินใจค้าขาย
"การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ในครั้งนี้เป็นผลจากปัจจุบันคู่ค้าในต่างประเทศจำนวนมากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสาเหตุจากผู้ซื้อล้มละลาย ซึ่งข้อมูลจากสถาบันประกันการส่งออกชั้นนำของโลกระบุว่า ปัจจุบันมีบริษัทล้มละลาย 1 รายในทุก 3 นาที EXIM BANK จึงต้องการส่งเสริมให้ผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ทำประกันทุกครั้งที่ส่งออก" นายพิศิษฐ์กล่าว
ทั้งนี้ การจ่ายค่าสินไหมทดแทนของ EXIM BANK ที่ผ่านมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2559 ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า (78%) รองลงมาคือ ผู้ซื้อล้มละลาย (20%) และผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า (2%) หากแบ่งตามประเภทอุตสาหกรรม 49% เป็นสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง (10%) อาหารกระป๋อง (8%) เฟอร์นิเจอร์ (6%) แผงระบายความร้อนรถยนต์ (4%) และอุตสาหกรรมอื่นๆ (23%) ส่วนประเทศผู้ซื้อที่ EXIM BANK มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนส่วนใหญ่ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และมาเลเซีย
นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า EXIM BANK ตั้งเป้าจะขยายบริการดังกล่าวไปยังผู้ส่งออก SMEs โดยผ่านช่องทางใหม่ๆ นอกเหนือจากสำนักงานใหญ่และสาขา 9 แห่งของ EXIM BANK ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ประกอบด้วยช่องทางการให้บริการผ่านหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงพาณิชย์ และผ่านสถาบันการเงินอื่นๆ ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวนมาก นอกจากนี้ EXIM BANK ยังจัดโปรโมชัน ลดค่าเบี้ยประกันสำหรับผู้ซื้อ 2 รายแรกในกรมธรรม์ จากราคาเต็ม 3,000 บาทต่อผู้ซื้อ 1 ราย เหลือ 1,500 บาท ณ บูท EXIM BANK ในงานออกบูทของธนาคารตลอดปี 2559
EXIM BANK เป็นผู้ให้บริการประกันการส่งออกรายแรกและรายเดียวของไทยมาเป็นเวลา 21 ปีที่ได้ให้บริการคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้ากับผู้ส่งออกไทย และพบว่า ผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะ SMEs มักไม่ทำประกันการส่งออกเพราะคิดว่ายุ่งยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แต่ในความจริง การทำประกันการส่งออกเป็นต้นทุนเพียงน้อยนิดที่มีประโยชน์อย่างมาก ช่วยให้ SMEs สามารถกำหนดเงื่อนไขและมูลค่าการค้าแต่ละล็อตได้อย่างมั่นใจและเป็นมืออาชีพ SMEs สามารถทุ่มเทเวลาและทรัพยากรของบริษัทไปใช้ปรับปรุงกิจการให้แข่งขันได้เพิ่มมากขึ้นโดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าและกิจการจะหยุดชะงัก