น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่อังกฤษได้ลงประชามติถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) นั้น ในทางปฏิบัติอังกฤษจะต้องดำเนินการภายในอีกอย่างน้อย 2 ปี จึงจะออกจาก EU ได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ทั้งนี้เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเจรจาการค้า หรือการเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับอังกฤษ หรือไทย-EU โดยในส่วนของ FTA ไทย-EU ขณะนี้สองฝ่ายได้เจรจากันในระดับเจ้าหน้าที่เท่านั้น เพราะคณะกรรมาธิการยุโรป ยังไม่เจรจากับไทยจนกว่าไทยจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วน FTA อาเซียน-EU ยังไม่เริ่มการเจรจา หลังจากหยุดการเจรจามาหลายปี
ส่วนในกรอบของความร่วมมือเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ไม่น่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือด้านการเมือง และการต่างประเทศ ขณะที่ด้านเศรษฐกิจไม่มีความร่วมมือมาหลายปีแล้ว สำหรับกรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) อยู่ที่ว่าเมื่ออังกฤษออกไปแล้วจะปรับระบบภาษีศุลกากรอย่างไร หากปรับขึ้นภาษีมากกว่าภาษีของ EU และสินค้าไทยที่ส่งออกไปอังกฤษได้รับผลกระทบ อังกฤษจะต้องเจรจาชดเชยความเสียหายให้กับไทย แต่ถ้าอังกฤษปรับลดภาษีศุลกากรลงจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ กับไทยแน่นอน
น.ส.ศิรินารถ กล่าวว่า เมื่ออังกฤษออกจาก EU แล้ว เริ่มมีการมองกันว่าอนาคตของอาเซียนจะเป็นอย่างไร จะมีเหตุการณ์ที่สมาชิกอาเซียนอาจถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกหรือไม่นั้น น.ส.ศิรินารถ ระบุว่า อาเซียนคงไม่มีสถานการณ์เช่นนั้น เพราะอาเซียนแต่ละประเทศยังมีความเป็นเอกเทศในการบริหารประเทศ มีกฎหมายของตนเอง ไม่ได้ใช้เงินสกุลเดียวกัน และที่สำคัญประเทศสมาชิกเก่า (ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และบรูไน) ไม่ได้ใช้งบประมาณของตนเองช่วยเหลือสมาชิกใหม่ (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) ที่พัฒนาน้อยกว่าเหมือนกรณีของ EU