พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม “แนวคิดและเครื่องมือในการบริหารจัดการกองทุนแบบบูรณาการและมุ่งผลสัมฤทธิ์" ว่า การบริหารจัดการโครงการจะประสบความสำเร็จ ผู้ปฏิบัติงานต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ ดังนี้ 1. ผู้พัฒนาโครงการต้องความรู้ (Knowledge) 2. ทีมงานของผู้พัฒนาโครงการจะต้องมีทักษะ (Skill) 3.โครงการที่พัฒนาต้องมีนวัตกรรม (Innovation) และ 4. การประสานงานจะต้องเป็นไปแบบบูรณาการ (Integration) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและอนุรักษ์พลังงาน
"ต้องการปรับปรุงกระบวนการให้มีความกระชับฉับไว และมีประสิทธิภาพ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดในช่วงปี พ.ศ.2558 - 2579แบ่งเป้าหมายออกเป็น 2 แผน ได้แก่ แผนอนุรักษ์พลังงาน จะลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity : EI) ร้อยละ 30 ในปี พ.ศ.2579 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2553 หรือลดการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศลง 56,142 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe)และแผนพลังงานทดแทน ทำให้สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจากเดิม 9,201 ktoeคิดเป็นร้อยละ 11.9 ในปี พ.ศ.2557 เพิ่มเป็น 39,389 ktoe ในปี พ.ศ.2579 คิดเป็นร้อยละ 30 ของปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย"รมว.พลังงานกล่าว
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สนพ.ได้ขานรับนโยบายสู่การปฏิบัติในการกลั่นกรอง ติดตาม และประเมินผลโครงการต่างๆ ของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับโครงการที่ประสบผลสำเร็จที่ผ่านมา และเร่งผลักดันโครงการสำคัญที่รองรับยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ในอนาคตเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ปี พ.ศ.2558 - 2564 เช่น การส่งเสริมการใช้หลอดแอลอีดี (LED) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 - 2559 กองทุนฯ สนับสนุนการเปลี่ยนมาใช้หลอด LED ไม่น้อยกว่า 2 ล้านหลอด , ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย กำหนดในแผน PDP จะมี EV (passenger) 1.2 ล้านคัน ณ ปี พ.ศ.2579 โดยคาดว่าช่วงปี พ.ศ.2560 - 2564 จะมี EV เข้าสู่ตลาดรถประมาณ 4,000- 60,000 คัน ลดการใช้พลังงานได้ประมาณ 75 ktoe เป็นต้น