ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวได้ 2.5% ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวและการส่งออกยังคงลดลง แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังมีความมั่นคง การเงินและการคลังที่เข้มแข็ง จึงช่วยปกป้องให้ไทยพ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย
ขณะเดียวกัน ธนาคารโลก ยังคาดการณ์ว่าในปี 2560 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.6%
พร้อมชี้การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ควรรวมประเด็นเรื่องสังคมสูงวัยซึ่งทวีความสำคัญเนื่องจากไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยค่าใช้จ่ายเรื่องบำนาญ การดูแลสุขภาพ และระบบการดูแลผู้สูงวัย จะทำให้เกิดภาระด้านการเงินในระยะยาว
นายอูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 59 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5% ปรับเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ 6 เดือนก่อนหน้านี้ที่ 2.0% แต่ยังเติบโตได้ต่ำกว่าปีก่อนที่ 2.8% เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวลงและการส่งออกยังคงลดลง โดยคาดว่าการส่งออกจะหดตัว -0.1%
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส เวิลด์แบงก์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในปีนี้ คือ นโยบายการคลังและการลงทุนภาครัฐ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและรายได้การท่องเที่ยวยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่อง ภาคการเงินและการคลังที่เข้มแข็งจะช่วยปกป้องให้ไทยพ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ขณะที่ความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คือ 1.นโยบายภาคการคลังในช่วงหลังจะมีประสิทธิภาพลดลง เนื่องจากมีการใช้นโยบายด้านภาษีไปแล้วก่อนหน้านี้ และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐจะมีความท้าทายมากขึ้น 2.เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ทำให้เกิดความผันผวนต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะไทยที่มีสัดส่วนการค้ากับจีน 12% และ 3.ภาคการเกษตรที่ขยายตัวติดลบทั้งในส่วนรายได้ภาคการเกษตรและสินค้าเกษตร จากปัญหาภัยธรรมชาติ
"เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ต่ำเมื่อเทียบกับอาเซียน และคงต้องเผชิญกับแรงต้านในการฟื้นตัวอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง โดยภาคการส่งออกจะไม่ขยายตัว หรือขยายตัวติดลบไปอีกระยะ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ไม่เกิน 3% จนถึงปี 2561"
นอกจากนี้ การที่อายุของประชากรวัยทำงานสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยผลการศึกษาพบว่า ประชากรวัยทำงานของไทยจะลดลงอีก 11% จาก 49 ล้านคน เหลือ 40.5 ล้านคนในปี 2583 โดยภาครัฐจะต้องเร่งปฏิรูปนโยบายหลายด้าน ทั้งบำนาญ การดูแลสุขภาพ และการดูแลผู้สูงวัยในระยะยาว