นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง มองว่า จากที่ประเทศไทยได้เผชิญกับหลายวิกฤตการทางการเงินในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นักธุรกิจสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น ภาครัฐเองสามารถรักษาวินัยทางการเงินการคลังให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความสามารถในการดูแลทั้งด้านอัตราแลกเปลี่ยน และด้านของอัตราดอกเบี้ยให้มีความสัมพันธ์กัน จึงทำให้ระบบการเงินในประเทศไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่ยังมีความแข็งแกร่ง จึงทำให้ประเทศไทยยังสามารถรับมือได้ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอย่างไร
"การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้นทางการเงิน ส่วนวินัยการคลัง มีการเปลี่ยนแปลงจากการปฏิวัติ 2 ครั้ง รัฐบาลที่เข้ามาไม่มีโอกาสลงทุนมาก ภาระหนี้ต่อทุนจึงยังต่ำ ทำให้วินัยการเงินการคลังของรัฐบาลยังอยู่ในระดับที่รับได้ หนี้สาธารณะแค่ 40% ต้นๆ ยังมีโอกาสขยายโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานออกไปได้อีก ธปท.เองก็ปรับตัวได้เร็ว ทั้งการดูแลอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความสัมพันธ์กัน" อดีตรมว.คลังกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์
พร้อมมองว่า สิ่งสำคัญในขณะนี้ที่นอกเหนือจากเรื่องการดูแลอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว นั่นคือ การดูแลเงินทุนไหลเข้าออก ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างควบคุมได้ยาก เพราะปัจจุบันสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจโลกมีเพิ่มมากขึ้นจากการที่หลายประเทศอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของตัวเอง
อย่างไรก็ดี มองว่าโอกาสที่ต่างชาติจะเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินจนส่งผลกระทบต่อตลาดในประเทศเป็นอย่างมากดังที่เกิดวิกฤติในปี 2540 นั้นคงจะไม่เกิดขึ้น เพราะปัจจุบันไทยใช้การลอยตัวค่าเงิน และ ธปท.มีเครื่องมือทางการเงินที่ใช้ดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุน
"เดิมทีเป็นแบบ fix rate แต่ตอนนี้พอเราลอยตัวค่าเงิน มีความยืดหยุ่นกับดอกเบี้ยได้ ธปท.มีวิธีการคอยปรับระหว่างการไหลเข้าออกของเงินด้วยอัตราดอกเบี้ย หรืออัตราแลกเปลี่ยนให้เพียงพอได้ แต่นโยบายการเงินก็มีข้อจำกัด เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งทำไปมากกว่านั้นแล้วไม่ได้ผล ก็ต้องขึ้นกับการกำกับดูแลการไหลเข้า-ออกของทุนที่จำเป็นต้องตามมา" นายทนง กล่าว
อดีต รมว.คลัง มองว่า คงจะได้เห็นการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำไปตลอดทั้งปีนี้ และคงจะเป็นการยากที่ธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตราบใดที่สภาพคล่องในระบบยังมีอยู่มากเช่นนี้ ประกอบกับหลายประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็ยังใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น การที่ไทยจะฝืนกระแสคงไม่ใช่เรื่องง่าย
"ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ไทยคงขึ้นไม่ได้ ถ้าสภาพคล่องมีมากขนาดนี้ เพราะถ้าขึ้นดอกเบี้ยก็จะมีเงินต่างประเทศเข้ามาอีกทดแทน ดอกเบี้ยคงจะต่ำไปอย่างน้อยปีนี้อีกปี ไทยเป็นประเทศเล็กๆ ซึ่งในที่สุดแล้ว เราก็อยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐ, ญี่ปุ่น, จีน และ ยุโรป อันไหนเริ่มพลิกกลับเรื่องอัตราดอกเบี้ย คนอื่นก็คงต้องปรับตามทันที" นายทนง กล่าว
พร้อมมองว่า ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยน่าจะยังเป็นรูปตัว L ไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี เนื่องจากยังมองไม่เห็นปัจจัยที่จะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างชัดเจน นอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการอัดฉีดเงินลงสู่ระบบ ซึ่งหากใช้แนวทางนี้มากเกินไป อาจจะทำให้รัฐบาลเองเป็นผู้สร้างวิกฤติให้แก่ประเทศก็เป็นได้
"ระหว่างนี้ภาพเศรษฐกิจจะยังเป็นตัว L ไป 1-2 ปี ลากไปเรื่อยๆ มันไม่มีตัวผลักดันให้เติบโต มีแค่ตัวเดียวรัฐบาลอัดฉีด แต่อัดฉีดมากๆ ภาระหนี้จะสูงขึ้น พอภาระหนี้สูงขึ้นถึงจุดหนึ่ง รัฐบาลเองก็อาจจะสร้างวิกฤติให้ประเทศได้" นายทนง กล่าว