น.ส.ยุพิน เรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายธุรกิจและบัญชีสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้ออกประกาศ ธปท. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง เพื่อเป็นการรองรับ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.59 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.59 นี้
น.ส.ยุพิน กล่าวว่า สาระสำคัญของหลักเกณฑ์ของ ธปท.ที่ปรับปรุงในครั้งนี้ เป็นการปรับเพื่อรองรับ พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว โดยได้เพิ่มประเภทหลักประกันที่สถาบันการเงินจะสามารถนำมูลค่าของทรัพย์สินมาหักจากยอดหนี้ก่อนการกันเงินสำรองได้ โดยประเภทหลักประกันที่เพิ่มคือ กิจการ, สิทธิเรียกร้องที่ไม่มีตราสาร (เช่น สิทธิเรียกร้องในลูกหนี้ สิทธิเรียกร้องในการปฏิบัติตามและรับเงินจากสัญญาสัมปทาน เป็นต้น) ส่วนหลักประกันประเภทอื่นที่ระบุอยู่ใน พ.ร.บ.ฯนั้น เกณฑ์ของ ธปท.เดิมได้อนุญาตให้นำมาหักลดมูลหนี้ก่อนการกันเงินสำรองได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้ ได้มีการปรับปรุงแนวนโยบายในการประเมินราคาของสถาบันการเงิน เพื่อให้มีความชัดเจนในเรื่องวิธีการประเมินราคาหลักประกันประเภทที่เพิ่มเติมในครั้งนี้ โดยเฉพาะหลักประกันประเภทกิจการ รวมถึงขยายประเภทผู้ประเมินราคาให้สอดคล้องกับความต้องการที่มีเพิ่มขึ้นด้วย
“ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.เป็นต้นไป ผู้กู้สามารถนำหลักประกันที่เป็นหลักประกันทางธุรกิจเข้าไปกู้กับแบงก์ได้ และแบงก์เมื่อตกลงกับผู้กู้ ก็ต้องมอบหมายให้แบงก์ไปจดทะเบียน โดยนำหลักประกันธุรกิจไปจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ร.บ.นี้จะเอื้อให้มีการเพิ่มประเภทหลักประกันให้คนเข้าถึงสินเชื่อง่าย โดยเฉพาะกิจการขนาดเล็ก พ.ร.บ.ช่วยลดขั้นตอนกระบวนการ ในขณะที่หลักเกณฑ์ได้เพิ่มประเภทตาม พ.ร.บ. คือ เพิ่มวิธีการประเมิน เพิ่มคนที่ประเมินด้วย เช่น การเพิ่ม FA , เพิ่มผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และเพิ่มผู้บังคับหลักประกันที่มีไลเซ่นส์ของกรมพัฒน์ฯ" น.ส.ยุพิน กล่าว
อย่างไรก็ดี ธปท.ได้มีการติดตามการเตรียมความพร้อมของสถาบันการเงินเพื่อรองรับการรับหลักประกันตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าสถาบันการเงินได้จัดเตรียมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อรองรับการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ ตลอดจนได้มีการหารือร่วมกับสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย และสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำกรอบการประเมินมูลค่ากิจการและทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อรองรับการประเมินราคาทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้
ทั้งนี้ สาระสำคัญ ของ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 คือ 1.อนุญาตให้ผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่า ซึ่งแต่เดิมมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายหรือมีความไม่ชัดเจนในการนำมาเป็นหลักประกัน สามารถนำมาเป็นหลักประกันภายใต้ พ.ร.บ.ฯนี้ได้โดยไม่ต้องมีการส่งมอบทรัพย์ที่เป็นประกันหรือทะเบียน โดยหลักประกันที่อนุญาตภายใต้ พ.ร.บ.ฯนี้ เช่น กิจการ, สิทธิเรียกร้องที่ไม่มีตราสาร, ทรัพย์สินทางปัญญา และสินค้าคงคลัง (เช่น วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต สินค้าสำเร็จรูป สินค้าเกษตร) เป็นต้น ซึ่งจะเอื้อให้ผู้ประกอบธุรกิจ เช่น ธุรกิจ SMEs ธุรกิจ Start-up หรือธุรกิจการเกษตร สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพราะสามารถนำทรัพย์สินของตนมาเป็นหลักประกันประกอบการขอสินเชื่อได้
2. ปรับกระบวนการยึดทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้เร็วขึ้น โดยให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาหลักประกันธุรกิจ ซึ่งผู้ให้กู้จะสามารถยึดทรัพย์สินได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการของศาล หากไม่มีข้อโต้แย้ง